04 June 2015

Google Developer Experts คืออะไรกันนะ?

Updated on

        ช่วงนี้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบางคนน่าจะได้ยินกับคำว่า GDE หรือ Google Developer Experts กันบ้างแล้ว เพราะว่าพี่เนยแห่ง NuuNeoI และ The Cheese Factory พึ่งได้รับตำแหน่งดังกล่าวไปไม่นานมานี้

        ว่าแต่ว่าเจ้า GDE มันคืออะไรล่ะ? เป็นตำแหน่งงานจาก Google น่ะหรอ? เจ้าของบล็อกก็เลยหยิบมาเขียนเล่นๆให้ได้อ่านกันเพลินๆครับ

GDE คืออะไร?

        GDE เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ทาง Google ได้จัดขึ้น เพื่อค้นหาผู้คนที่มีความสามารถและประสบการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง (Experts) ซึ่งเรื่องพวกเขาเชี่ยวชาญก็จะต้องเป็นเรื่องที่ทาง Google ได้จัดหมวดหมู่ไว้แล้ว (ซึ่งจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Google Products) โดยแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆด้วยกันดังนี้

        • Technology
        • Marketing
        • UX/UI
        • Product Strategy

        และแต่ละหัวข้อก็จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆดังนี้

        Technology - Android,  Angular JS, Chrome: HTML5, Google+, ...
        Marketing - Brand Development, Distribution, Monetization, ...
        UX/UI - User Research, Interaction Design, Visual Design, ...
        Product Strategy - Lean Startup, Startup Pattern, MVP, ...


        โดยมีจุดประสงค์คือเพื่อให้เหล่า Experts คอยเผยแพร่ ให้ความรู้ แต่คนในพื้นที่นั้นๆเกี่ยวกับแต่ละหัวข้อ ซึ่งในแต่ละหัวข้อนี้ทาง Google ก็จะค้นหาคนที่จะมาเป็น Experts ในแต่ละเรื่อง ในแต่ละท้องถิ่น ในแต่ละประเทศ ซึ่งในตอนนี้พี่เนยและเจ้าของบล็อกก็ได้เป็น GDE ในหัวข้อ Android นั่นเอง

        โปรแกรม GDE นี้ได้จัดตั้งขึ้นมาค่อนข้างนานแล้วล่ะ แต่เริ่มจะเปิด Global ตอน 2011 นู่นนนน และพึ่งจะเป็นที่รู้จักกันได้ไม่นานมานี้


คุณสมบัติของคนที่จะมาเป็น GDE?

        อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า GDE นั้นคือเหล่าผู้เชี่ยวชาญในแต่ละหัวข้อที่ทาง Google ได้จัดหมวดหมู่ไว้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณเชี่ยวชาญเรื่องนั้นๆแล้วคุณจะเดินตรงมาขอเป็น GDE ได้เลย เพราะ GDE ไม่ใช่ใบ Certificate ที่จะให้คุณเข้ามาสอบแล้วได้ใบผ่านไป

        แต่ GDE จะถูกเลือกจากกิจกรรมที่แต่ละคนเคยทำมา ว่าเคยทำอะไรมาบ้าง เพราะหน้าที่ของ GDE คือคอยกระจายความรู้ให้กับผู้คน อย่างเช่น

        • เขียนบล็อก เขียนหนังสือ ทำวีดีโอ หรือทำโค๊ดตัวอย่างเพื่อสอนและให้ความรู้
        • เป็น Speaker ในงาน Conference ต่างๆ
        • เป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่นๆ

        ดังนั้นต่อให้เชี่ยวชาญมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่เคยทำกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้เลย ก็ไม่สามารถเข้าโปรแกรม GDE ได้ เพราะเค้าอยากได้คนที่คอยกระจายความรู้อยู่แล้ว มาร่วมโปรแกรมนี้ต่างหาก

        ตัวอย่าง Taylor Ling, UX/UI Expert จากมาเลเซียที่เคยมาเป็น Speaker ในงาน Google Developer Summit ปี 2015 ที่ประเทศไทยครับ ก็เป็นอีกหนึ่งใน GDE ชื่อดังที่นักพัฒนาคนไทยหลายๆคน (เจ้าของบล็อกก็ด้วย) ติดตามข่าวสารและความรู้จากบล็อกและผ่านทาง Google+


        ถ้าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านเป็นคนที่ชำนาญในหัวข้อใดและชอบแบ่งปันความรู้ให้กับคนอื่นอยู่แล้ว ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านก็มีโอกาสเป็น GDE ได้นะครับ


แล้วจะสมัครเป็น GDE ได้ยังไง?

        GDE ไม่ใช่ตำแหน่งที่จะมาประกาศรับสมัคร แล้วรอให้คนเข้ามาสมัครนะครับ แต่จะเป็นการ Invitation ล้วนๆ หรือก็คือมีคนของทาง Google เข้ามาชักชวนให้เป็น GDE นั่นเอง อย่างเช่น คนจาก GDG หรือ Google Developer Group ที่คอยสนับสนุนเรื่องต่างๆจาก Google อยู่แล้ว เป็นต้น

        แล้วจะไปหาคนที่เป็น GDG ได้ยังไงล่ะ?

        การจะเป็น GDE ไม่ใช่การเข้าไปหาคนที่เกี่ยวข้องครับ แต่ควรทำสิ่งที่ตัวเองทำอยู่แล้วที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของ GDE ให้ดีที่สุดครับ เพราะถ้าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านมีความสามารถและแบ่งปันความรู้จนเป็นที่รู้จักแล้ว พวกเขาก็จะรู้จักผู้ที่หลงเข้ามาอ่านเองครับ (ทำดีจนเป็นที่รู้จัก เดี๋ยวเค้าก็รู้จักคุณเองน่ะแหละ)

        ดังนั้นถ้าสิ่งที่ทำอยู่ตรงกับคุณสมบัติของ GDE อยู่แล้ว ก็จงทำให้ดีต่อไปครับ แต่ถ้ายังไม่มีคุณสมบัติมากพอ ก็จงเริ่มทำตั้งแต่วันนี้นะครับ


เป็น GDE แล้วต้องทำอะไรบ้าง?

        หน้าที่หลักของ GDE ก็คือการกระจายความรู้ให้กับคนอื่นๆเหมือนที่เคยทำอยู่นั่นแหละครับ แต่ก็อาจจะมีบาง Event ของทาง Google ที่จะเชิญไปเป็น Speaker หรืออย่างในงาน Google I/O ก็มีพื้นที่สำหรับ GDE เพื่อให้คนที่เข้าร่วมงานเข้ามาถามเข้ามาปรึกษากับ GDE กัน แล้วก็ไปเข้าร่วม GDE Summit ทุกๆปีด้วย


        หรือพูดง่ายๆก็คือคอยสนับสนุน Google Products ให้กับนักพัฒนาที่อยู่ในบริเวณนั้นๆครับ แล้วก็มีการเข้าร่วมมีตติ้งกับทีมงาน Google ผ่านวีดีโอคอลบน Google Hangout และก็ต้องคอยรายงานกิจกรรมต่างๆที่เราทำบนเว็ปสำหรับ GDE ด้วยกันครับ

เป็น GDE แล้วมีดีอะไร?

        เนื่องจากการเป็น GDE นั้นคือเป็นการสนับสนุน Google Products อยู่แล้ว ดังนั้นก็จะมี Benefit หลายๆอย่างจากทาง Google ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการได้เข้าร่วมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากทาง Google และ Expert ด้วยกัน, ได้ลองใช้ Product ตัวใหม่ๆก่อน, มีโอกาสได้เข้าร่วม Event และ Project ต่างๆของทาง Google, เชิญไปร่วมงาน Google I/O, ได้รับ Badge จากทาง Google และจะได้ขึ้นอยู่ในหน้ารายชื่อของ GDE ที่หน้าเว็ปหลักด้วย เรียกได้ว่าจะได้โอกาสหลายๆอย่างจากทาง Google โดยตรงเลยล่ะ

        แต่ไม่มีเงินเดือนนะครับ ฮ่าๆ

        การเป็น GDE ไม่ใช่การเป็นพนักงานของ Google แต่อย่างใด เป็นแค่บุคคลภายนอกที่เข้าร่วมโปรแกรมของทาง Google ครับ ดังนั้นอย่าเข้าใจผิดนะครับว่าเป็น GDE แล้วจะเป็นพนักงานของ Google

        และที่สำคัญคือตำแหน่ง GDE ไม่ใช่ตำแหน่งถาวรครับ แต่พิจารณากันแบบปีต่อปี ดูผลงานดูความสามารถว่าเหมาะที่จะให้เป็น GDE ในปีต่อๆไปหรือไม่ ดังนั้นถ้าทำไม่ดีหรือไม่ทำอะไรเลยก็จะถูกถอดออกจากการเป็น GDE ครับ


สรุป 

        สรุปแล้ว GDE ก็เป็นโปรแกรมหนึ่งของ Google ที่ให้บุคคลที่มีความชำนาญในเรื่องต่างๆเข้ามาร่วมโปรแกรม เพื่อช่วยกระจายความรู้และข้อมูลสำคัญๆให้เหล่าผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้นๆ ดังนั้นถ้าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านคิดว่าตัวเองกำลังมาทางนี้ และอยากจะเข้ามาร่วมเป็น GDE ก็ขอให้พยายามทำให้ดีที่สุดครับ แล้วโอกาสก็จะไปหาผู้ที่หลงเข้ามาอ่านเองครับ เพราะเจ้าของบล็อกเชื่อว่าเมื่อเราทำอะไรที่มันดี ตั้งใจ เกิดประโยชน์กับคนมากมาย และมีคุณภาพมากพอ พอถึงเวลานั้นก็จะมีคนเห็นคุณค่าของมันเองครับ แล้วหลายๆคนรวมไปถึงเจ้าของบล็อกก็จะเห็นผู้ที่หลงเข้ามาอ่านเองครับ


        สำหรับหน้าเว็ปหลักของ Google Developer Expert สามารถดูได้ที่ Google Developer Experts