02 February 2015

[Review] Motorola Nexus 6 : Android สายเลือดบริสุทธิ์รุ่นที่ 6 แห่งตระกูล Nexus

Updated on


        Nexus ชื่อนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักแล้วล่ะเนอะ เพราะเป็น Android ลูกเมียหลวงจาก Google ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว Google ได้เปิดตัว Nexus Phone รุ่นที่ 6 ที่มีนามว่า Nexus 6 ซึ่งผลิตโดย Motorola จึงทำให้ใครหลายๆคนก็จับตามองกันและอยากได้จะมาครอบครอง (เจ้าของบล็อกก็ด้วย)

        และในที่สุดเจ้าของบล็อกก็ได้มาครอบครอง (ชั่วคราว) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงขอจัดรีวิวกันซักดอกให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านได้อ่านกันว่าเจ้า Nexus 6 มันจะเจ๋งแค่ไหนเชียว

        สำหรับเครื่องนี้ต้องขอบคุณ Droidsans ที่สงเคราะห์ให้เจ้าของบล็อกเอามาลอง เอามาเล่น เอามาปู้ยี่ปู้ยำ และเอามาลอง Dev เล็กน้อย



เกริ่นนำ

        สำหรับ Nexus ในรุ่นที่ 6 นี้ ได้ถูกมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ Motorola ที่เคยเป็นเด็กในสังกัดของ Google และตอนนี้ผันตัวไปเป็นเด็กในสังกัด Lenovo แล้ว แต่ทว่าการที่ Motorola ถูกมอบหมายให้ทำนั้นก็เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆคนเพราะรู้ถึงงานคุณภาพของค่ายนี้อยู่แล้ว (โดยเฉพาะเจ้าของบล็อกที่ใช้ Moto X)


        แต่ทว่าก็เป็นที่น่าเศร้าสำหรับการหาซื้อมาครอบครอง เพราะ Nexus 6 สามารถซื้อได้เฉพาะบางประเทศเท่านั้น และในคราวนี้กลับเปิดตัวออกมาด้วยราคาที่โหดมากถึงมากที่สุดซะงั้น จึงทำให้ใครหลายๆคนน้ำตาคลอเบ้ากันเลยทีเดียว


วัสดุคุณภาพ ดีไซน์ลงตัว


        สำหรับตัวเครื่อง Nexus 6 นั้นบอกได้เลยว่าตอนที่ได้จับแล้วประทับใจมาก เพราะงานประกอบคุณภาพดีสมชื่อ Motorola แถมคราวนี้ใช้ขอบบอดี้เป็นอะลูมิเนียมด้วย ซึ่งต่างจากตอน Nexus 5 ที่ทำให้เจอปัญหาขอบปริได้



        ฝั่งซ้ายของตัวเครื่องไม่มีปุ่มใดๆ เพราะทุกปุ่มจะถูกย้ายไปอยู่ฝั่งขวาแทน โดยปุ่ม Power อยู่ข้างบน ส่วนปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงอยู่ข้างล่าง




        ข้างบนจะเป็นช่องเสียบหูฟังที่อยู่ตรงกลาง และช่องใส่นาโนซิมที่ฝั่งซ้าย



        ข้างล่างเป็นช่องเสียบ USB



        จุดเด่นของ Nexus 6 ก็คือลำโพงสเตอริโอคู่หน้าเสียงดังฟังชัด ที่ใครๆหลายคนก็ชอบเผลอไปกดตรงลำโพง เพราะเข้าใจว่ามันคือปุ่มกดได้ และกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซลจะอยู่มุมขวาบนของตัวเครื่อง




        Light Sensor กับ Proximity Sensor ที่เอาไว้ปรับแสงหน้าจอกับดับหน้าจอเวลาที่คุยโทรศัพย์จะอยู่ซ้ายมือของลำโพงฝั่งบน สังเกตเห็นยากเล็กน้อย



        ส่วนฝาหลังมีลักษณะโค้งตามรูปแบบของ Moto X วัสดุเป็นผิวด้าน น้ำไม่เกาะ แต่ขี้มือเกาะเป็นรอยได้ง่าย โดยเฉพาะเครื่องสีน้ำเงินแบบนี้



        กล้องหลังจะอยู่ตรงกลางข้างบน ส่วนแฟลชสองดวงอยู่ในวงกลมใสๆรอบๆตัวกล้อง ถัดไปข้างล่างของกล้องจะเป็นโลโก้ของ Motorola ที่มีลักษณะเป็นร่องลึกลงไป และต่อด้วยโลโก้ Nexus ยาวๆแบบ Nexus 5




        และข้างล่างสุดจะมีช่องไมค์ด้านหลังที่เอาไว้ตัดเสียงรบกวน



        ตัวเครื่องยาว 15.9 เซนติเมตร กว้าง 8.3 เซนติเมตร ตัวเครื่องส่วนที่หนาที่สุด 1 เซนติเมตร และหนักแค่ 184 กรัม



        เทียบขนาดกับ Moto X 2013



        เทียบขนาดกับ One Plus One



สเปคเครื่องโดยรวม

        • ระบบปฎิบัติการเป็น Android 5.0 Lollipop 32-bit (ในรีวิวนี้อัพเดทเป็น 5.0.1 แล้ว)
        • CPU ใช้ของ Qualcomm Snapdragon 805 APQ8084 (Krait 450) Quad-core 2.7 GHz เป็น CPU แบบ 32-bit
        • GPU ใช้ของ Adreno 420 ความเร็ว 600 MHz รองรับ OpenGL ES 3.1
        • ROM มีสองแบบคือ 32/64 GB เป็น eMMC NAND Flash ยี่ห้อ SanDisk (เครื่องรีวิวเป็น 64GB มีให้ใช้ 54.65 GB) ใส่ SD Card ไม่ได้
        • RAM ใช้เป็น LPDDR3 RAM ยี่ห้อ HyNix ขนาด 3 GB (มีให้ใช้ประมาณ 2.9 GB)
        • กล้องหน้าความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล (1920 x 1080 พิกเซล) รองรับการถ่ายวีดีโอความละเอียด Full HD (1080P) แต่เป็น Fixed Focus และไม่รองรับ HDR
        • กล้องหลังใช้เซ็นเซอร์ Sony IMX214 ความละเอียด 13 ล้านพิกเซล (4160 x 3120 px) รูรับแรงขนาด F2.0 รองรับการถ่ายวีดีโอที่ความละเอียด UHD 4K ได้ Framerate สูงสุด 30 FPS ส่วน 1080P จะได้สูงสุด 60 FPS ตัวกล้องมีระบบกันสั่น (OIS) มี Dual LED Ring Flash และรองรับการถ่ายภาพแบบ HDR
        • ขนาดตัวเครื่องยาว 15.9 เซนติเมตร กว้าง 8.3 เซนติเมตร ด้านหลังเครื่องมีลักษณะโค้ง โดยส่วนที่หนาที่สุดจะหนาประมาณ 1 เซนติเมตร และส่วนที่บางที่สุดจะหนาประมาณ 0.5 เซนติเมตร
        • น้ำหนักตัวเครื่อง 184 กรัม ไม่แนะนำให้ทำตก หรือไปงอเล่น
        • หน้าจอ AMOLED 16 ล้านสี ความละเอียด WQHD 2560 x 1440 พิกเซล ขนาด 5.96 นิ้ว สัดส่วน 16 ต่อ 9 ความคมชัดของหน้าจอ 493 DPI โดยประมาณ และใช้กระจก Corning Gorilla Glass 3 รองรับ Multitouch 10 จุด
        • ลำโพงขับเสียงด้วยชิป NXP TFA9890A เป็น Class-D Audio Amplifier รหัสเดียวกับของ Moto X 2013 ที่เคยรีวิวไปเมื่อชาติปางก่อน แต่ของ Moto X เป็น TFA9890 ซึ่งตัว TFA9890A ก็มีคุณสมบัติโดยรวมคล้ายกับ TFA9890 น่ะแหละ แต่เพิ่มคุณสมบัติบางอย่างเข้ามา อย่างเช่น Speaker Error Detection แต่ Nexus 6 มีจุดเด่นตรงที่ลำโพงสเตอริโอคู่หน้าทำให้เพลิดเพลินกับเสียงได้อย่างเต็มที่
        •  แบตเตอรีความจุ 3,220 mAh (12W) รองรับการชาร์จไร้สาย และรองรับ Quick Charge 2.0 ด้วย โดยอะแดปเตอร์ที่มากับตัวเครื่องก็เป็นอะแดปเตอร์ Quick Charge 2.0 ด้วยเช่นกัน สามารถจ่ายกระแสได้ 3 ระดับ คือ 5V/1.6A, 9V/1.6A และ 12V/1.2A
        • ตัวเครื่องมี 2 Model คือ XT1100 กับ XT1103 ต่างกันที่ความถี่สัญญาณมือถือที่รองรับ (ตัวที่นำมารีวิวเป็น XT1100 รองรับ LTE ในประเทศไทย)
        • 2G
            • ทั้ง 2 Model : GSM 850 / 900 / 1800 / 1900 MHz
            • สำหรับ XT1103
                • CDMA 800 / 1900 MHz
        • 3G (ความเร็ว 42.2/5.76 Mbps)
            • สำหรับ XT1100
                • HSDPA 800 / 850 / 900 / 1700 / 1800 / 1900 / 2100 MHz
            • สำหรับ XT1103
                • HSDPA 850 / 900 / 1700 / 1900 / 2100 MHz
        • 4G (ความเร็ว Cat 6 300/50 Mbps)
            • สำหรับ XT1100
                • LTE 700 / 800 / 850 / 900 / 1800 / 2100 / 2600 MHz
                • TD-LTE 2500 MHz
                • Bands 1, 3, 5, 7, 8, 9, 19, 20, 28, 41
            • สำหรับ XT1103
                • LTE 700 / 850 / 1700 / 1800 / 1900 / 2100 / 2600 MHz
                • TD-LTE 2500 MHz
                • Bands 2, 3, 4, 5, 7, 12, 13, 17, 25, 26, 29, 41
        • รองรับ GPS, A-GPS และ GLONASS โดยใช้ชิป IZat Gen8B
        • รองรับ Bluetooth 4.1, A2DP, EDR และ LE โดยใช้ชิป Broadcom BCM4356
        • รองรับ WiFi 802.11a/b/g/n/ac, MIMO, Dual-band, WiFi Direct, DLNA และ WiFi Hotspot โดยใช้ชิป Broadcom BCM4356
        • รองรับ NFC โดยใช้ชิป Broadcom BCM20795
        • รองรับการต่อ USB OTG หรือ USB Host และ USB Accessory
        • เซ็นเซอร์ที่มี Accelerometer, Gyroscope, Magnetic Field, Proximity, Light Sensor, Barometer, Step Counter และ Orientation Sensor


หน้าจอใหญ่สะใจ คมชัดสุดติ่ง

        ด้วยหน้าจอ AMOLED ขนาด 5.96 นิ้ว ความละเอียด WQHD 2,560x1,440 พิกเซล (Density ประมาณ 493 DPI) จึงทำให้ผู้ใช้ได้รับอรรถรสจากหน้าจออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการดูหนัง ฟังเพลง และเล่นเกม



        แถมมีจุดเด่นที่หน้าจอ AMOLED ที่ทำให้ได้สีที่สด สู้แสงได้ดี และที่เจ้าของบล็อกชอบก็คือเวลาแสดงสีดำจะกินไฟน้อยมากนั่นเอง




       ลองท้าชนกับแสงแดดตอนเที่ยงๆดูหน่อย



        ใช้งานท่ามกลางแสงจ้าก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้สว่างขาวนวล แต่ก็สามารถดูหน้าจอได้ชัดปกติ




        และเจ้าของบล็อกขอปรบมือชม Motorola เลยเรื่องหน้าจอเมื่อปรับความสว่างต่ำ เพราะว่าปรับได้ต่ำมาก ทำให้เวลาอยู่ในที่มืดแล้วใช้งานไม่เกิดอาการปวดตาเลย ซึ่งเมื่อเทียบกับ Moto X 2013 ที่ใช้อยู่ เรียกได้ว่าต่างชั้นกันเลยทีเดียว แต่ทว่าสีจะอมแดงเล็กน้อยเมื่อปรับความสว่างต่ำสุด แต่ก็ดีกว่าสว่างแสบตาล่ะนะ



        โดยหน้าจอจะมีระยะห่างจากขอบด้านข้างอยู่ที่ 4 มิลลิเมตร ทำให้เวลาจับแล้วนิ้วไม่เอื้อมมาแตะโดนจอ เพราะเจ้าของบล็อกใช้ Moto X 2013 ที่ขอบจอ 3 มิลลิเมตร แล้วไม่ได้ใส่เคส เวลาจับเครื่องเต็มมือ ช่วงนิ้วนางกับนิ้วก้อยชอบแตะโดนขอบจออยู่บ่อยๆ แต่บน Nexus 6 ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ ทำให้จับได้ไม่เต็มที่ด้วยแหละ



        แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า AMOLED นั้นเมื่อใช้งานไปพักใหญ่ (ปีกว่าๆ) ก็จะเกิดอาการจอ Burn โดยตรงไหนที่แสดงผลเป็นสีขาวบ่อยๆก็จะเสื่อมสภาพได้ไว ส่วนตรงไหนที่แสดงผลเป็นสีดำบ่อยๆก็จะเสื่อมสภาพช้า เมื่อเสื่อมสภาพก็จะเกิดอาการอมเหลือง และเมื่อมีส่วนที่เสื่อมสภาพช้าและเร็วไม่เท่ากัน จึงอาจจะทำให้เห็นเป็นรอย Burn เป็นรูปได้

        เช่น Nav Bar ที่อยู่ข้างล่างของจอ เมื่อเสื่อมสภาพก็จะมองเห็นเป็นรอยปุ่มของ Nav Bar เพราะว่าตรง Nav Bar มักจะอยู่ที่เดิมประจำ แต่แถบนั้นเป็นสีดำ ส่วนปุ่มเป็นสีขาว จึงทำให้พื้นที่ที่แสดงเป็นปุ่มเกิดการเสื่อมสภาพและแถบสีดำยังไม่เสื่อมสภาพ ทำให้เกิดรอยอย่างที่เห็นนี่แหละ



        ภาพตัวอย่างนี้ไม่ใช่ของ Nexus 6 นะครับ แต่เอาเครื่องอื่นมาแสดงอาการจอ Burn ให้ดูเป็นตัวอย่าง


เร็วและแรงตามแบบฉบับของ Pure Android


        ด้วยขุมพลังจาก Qualcomm Snapdragon 805 จึงทำให้ Nexus 6 นั้น แรง แรง แล้วก็โคตรแรง ใช้ CPU รหัส APQ8084 ที่มีสถาปัตยกรรมเป็น Krait 450 และมี Core อยู่ 4 Core ที่ทำงานด้วยความเร็วได้สูงสุดถึง 2.7 GHz รองรับการเล่นไฟล์วีดีโอ 4K ได้สบายๆ

        และ APQ8084 นั้นมาพร้อมกับ Adreno 420 ที่เป็น GPU สุดเทพทำงานด้วยความเร็ว 600 MHz ที่จะช่วยให้กราฟฟิคงามๆกลายเป็นเรื่องเล็ก และรองรับ OpenGL ES 3.1

        แถมยังเป็น Pure Android ที่ไม่มีการครอบ UI ทับหรือการยัดแอพเพิ่มเติมลงไปแบบค่ายต่างๆ จึงทำให้ Nexus 6 สามารถรีดพลังของเครื่องได้ค่อนข้างดีมาก


        เริ่มจากทดสอบ AnTuTu Benchmark ก่อนเลย



        โดยเจ้าของบล็อกไม่ได้เปิดเครื่องมาใหม่ๆแล้วทดสอบเลย แต่ว่าลองใช้อยู่พักหนึ่งก่อนถึงจะเริ่มทำการทดสอบ และคะแนนที่ได้ก็คือ 52,979 ซึ่งถือว่าไม่ใช่น้อยๆ


        ต่อมาก็ลองทดสอบกับ 3DMark สำหรับการ Benchmark ในแบบ Ice Storm Extreme กับ Ice Storm จะเป็น Maxed out! เนื่องจากแรงเกินไป ส่วน Ice Storm Unlimited ได้ 23,306 คะแนน


        เมื่อเทียบลำดับทั้งหมดก็พบว่า Nexus 6 อยู่อันดับที่ 4 เลยล่ะ!!


        ส่วน PC Mark ได้ 4,383 คะแนน


        ลองทดสอบกับ Vellamo ดูบ้าง ได้คะแนนตามนี้

        • Browser : 3,756 คะแนน
        • Multicore : 1,742 คะแนน
        • Metal : 1,558 คะแนน



เปิดขึ้นมาปุ๊ปก็เป็น Lollipop ปั๊ป 

        Nexus 6 นั้นมาพร้อมกับ Android 5.0 Lollipop จึงทำให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ Material Design อย่างเต็มที่ มีลูกเล่นเพิ่มเข้ามามากขึ้นกว่าเดิมจากตอน 4.4 KitKat โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Animation วิ๊งวับ วูบวาบ และหวือหวาไปมาในอมยิ้มนี้ (จะเข้าใจป่าวหว่า)

        ถ้ายังนึกไม่ออกก็ลองดูตัวอย่างวีดีโอกันแบบคร่าวๆดูก่อน


        จะเห็นว่าเวลากดปุ่มก็จะมี Interaction เป็นวงกลมขยายวื๊บขึ้นมาแล้วหายไป หรือตอนเปลี่ยนหน้าก็จะมี Animation สไลด์หน้าต่างขึ้นมา ซึ่งเกิดมาจากการออกแบบโดยอิงหลักการของ Material Design จึงทำให้รู้สึกว่าแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่นี้มีชีวิตชีวามากขึ้นกว่าเดิม

        โดยเมื่อเข้าใจงานครั้งแรก Homescreen ก็จะมีหน้าตาแบบนี้ แต่ถ้ามีการโอนข้อมูลมาจากเครื่องเก่าก็จะมีการดาวน์โหลดแอพที่เคยลงไว้ในเครื่องเก่าให้อัตโนมัติ


        หน้าต่าง App Drawer ที่มีพื้นหลังเป็นสีขาวที่ใครหลายๆคนบอกว่าอยากได้โปร่งใสแบบเดิม


        ถ้าสรุปแบบรวบรัดสำหรับ Lollipop เลยก็จะมีสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดก็มีดังนี้

        แอพ Chrome บน Lollipop จะมีย้าย Tab ไปไว้ที่ Recent Task แทนแล้ว ทำให้หลายคนอาจจะงงว่า Tab หายไปไหน ถ้าอยากปรับให้มีปุ่ม Tab เหมือนเดิมก็เข้าไปตั้งค่าใน Settings ได้


        แอพ Photo สำหรับเปิดดูรูปภาพ ที่ในตอนนี้ Gallery ของเดิมนั้นถูกถอดออกไปแล้ว แล้วเปลี่ยนให้ใช้ตัวนี้แทน ซึ่งอาจจะดูไม่ถูกใจสำหรับใครหลายๆคน แต่ก็ไปหาแอพ Gallery ตัวอื่นมาใช้แทนกันได้นะจ๊ะ


        การตั้งค่าใน Settings มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมอะไรหลายๆอย่างเข้ามา อย่างเช่น Adaptive Brightness ซึ่งเดิมคือ Auto Brightness แต่ในเวอร์ชันนี้มีความสามารถเพิ่มเติมเข้ามา จึงเปลี่ยนคำเรียกใหม่ เพราะว่า Adaptive Brightness ถึงแม้ว่าจะเป็นการปรับแสงอัตโนมัติก็จริง แต่จะอิงจากค่าความสว่างที่ผู้ใช้กำหนดไว้

        เช่น เจ้าของบล็อกตั้งความสว่างไว้ปานกลาง เจ้า Adaptive Brightness ก็จะคอยปรับความสว่างของหน้าจอให้เหมาะสม โดยอิงจากค่าความสว่างปานกลาง



        และยังมี Ambient Display อีก เดี๋ยวจะขอพูดในทีหลัง

        การตั้งค่าเสียงปรับปรุงใหม่ให้กลายเป็น Sound & Notification เพื่อให้สามารถตั้งค่าเกี่ยวกับ Notification ของเครื่องได้ด้วย



        Battery Saving เป็นโหมดพลังงานที่จะเปิดใช้งานเมื่อแบตใกล้หมดได้ เพื่อช่วยยืดระยะเวลาใช้งานไปอีก



        Data Encryption หรือการเข้ารหัสข้อมูลในเครื่องเพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ทว่าก็ทำให้เครื่องทำงานเยอะขึ้นเช่นกัน ซึ่งบน Nexus 6 จะถูกบังคับให้ Encrypt ไว้เลย ไม่สามารถเปลี่ยนได้



        และในหน้าเดียวกันนั้นก็จะมี Screen Pinning ที่เอาไว้ล็อคหน้าแอพที่ไม่อยากให้คนอื่นกดเปลี่ยนไปแอพตัวอื่น (ให้เพื่อน ให้หลาน ให้ลูก ให้น้องยืมเล่น แต่ไม่อยากให้กดไปใช้แอพตัวอื่นได้)



        App Recent ถูกเปลี่ยนมาแสดงผลเป็นรูปแบบการ์ดซ้อนกัน ซึ่งแอพที่แสดงในนี้ไม่ได้หมายความว่าเปิดอยู่ แต่เป็นเสมือน History ที่แสดงว่าผู้ใช้เคยเปิดใช้แอพไหนบ้าง ต่อให้ปิดเครื่องเปิดใหม่ก็จะยังมี History แสดงให้เห็นอยู่ และถ้าเปิด Screen Pinning ไว้ ก็กำหนด Pin จากที่นี่ได้เลย


        หน้า Lockscreen มีเรื่องของความเป็นส่วนตัวมากขึ้น สามารถกำหนดใน Settings ได้ว่าจะให้แสดงเนื้อหาของ Notification ในหน้า Lockscreen หรือไม่ หรือต้องปลดล็อคหน้าจอก่อนเท่านั้นจึงจะแสดงเนื้อหาให้เห็น เพื่อป้องกันคนอื่นมาส่อง Notification จากหน้า Lockscreen


        Lollipop ของแท้ต้องมี Easter Eggs เป็น Flappy Android


        และมีบางแอพที่ยังไม่รองรับกับ Lollipop (รอนักพัฒนาอัพเดทให้รองรับอีกที)


        มีระบบ User สำหรับ Phone แล้ว เวอร์ชันก่อนหน้านี้จะมีแต่บน Tablet เท่านั้น ทำให้ Nexus 6 สามารถสร้าง User ได้ตามใจชอบ โดยที่แอพและข้อมูลใน Storage จะแยกกันสิ้นเชิง (แม้แต่ตอนเสียบคอมด้วย)


        สามารถพูด OK Google เพื่อเรียก Google Now ได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเปิดแอพใดๆอยู่หรือว่าปิดหน้าจอก็ตาม (ตอนนี้ใช้ได้กับ Nexus 6, Nexus 9 และ Samsung Galaxy Note 4)


ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมได้อย่างสะใจ

        ด้วยหน้าจอ 5.96 นิ้ว ความละเอียด 2560x1440 พิกเซล และลำโพงสเตอริโอคู่หน้า นี่มันเกิดมาเพื่อ Entertainment ชัดๆ!!



        ลำโพงเสียงดังได้ใจมาก เวลาใช้งานจริงๆ ปรับระดับเสียงแค่ครึ่งเดียวก็เพียงพอแล้ว



         เล่นได้แทบทุกเกม (เพราะเกมที่เล่นไม่ได้ก็คือยังไม่รองรับ) แถมได้เครื่อง 64 GB มาลองอีก เพราะงั้นต้องจัดเต็ม!!



        จากเดิมที่คิดว่าเครื่องใหญ่พกก็ยาก ถือก็ลำบาก แต่พอได้เล่นเกมเท่านั้นแหละ รู้สึกเลยว่าจอใหญ่มันดียังไง




        โดยเฉพาะ Thapster ที่กดได้ง่ายขึ้น เพราะพื้นที่เยอะ



        ทุกเกมที่เจ้าของบล็อกลองเล่นนั้นจะปรับกราฟฟิคสูงสุดตลอด (ถ้ามีให้ปรับ)



        หรือจะเปิดดูหนัง ดู YouTube หรือดู DroidSans Weekly+ ก็แจ่มไม่น้อย



        บน YouTube รองรับความละเอียดของวีดีโอได้สูงสุดถึง 1440P กันเลยทีเดียว




Ambient Display 

        Ambient Display เป็นลูกเล่นเหมือนกับ Active Display ของตระกูล Moto ซึ่งทาง Motorola ก็ได้หยิบมาใส่ใน Nexus 6 โดยอาศัยคุณสมบัติของ AMOLED ที่กินไฟต่ำเมื่อแสดงสีดำ

        โดยจะมีความแตกต่างกับ Active Display อยู่พอสมควร เพราะบน Ambient Display จะเป็นการแสดงหน้า Lockscreen ในโหมดขาวดำเลย จึงทำให้เห็น Notification ได้ครบกว่า และเมื่อกดบนหน้าจอก็จะแสดงเป็น Lockscreen แบบปกติทันที



        สำหรับ Ambient Display จะแสดงก็ต่อเมื่อตัวเครื่องถูกหยิบขึ้นมา ดังนั้นจึงสะดวกมาก เพราะไม่ต้องกดเปิดหน้าจอเพื่อดู Notification ที่ต้องทำก็แค่หยิบเครื่องขึ้นมา แล้ว Ambient Display ก็จะแสดงให้เห็นเอง



        แต่จากที่ลองเล่นดูเจ้าของบล็อกรู้สึกว่าหลักการแสดงผลนั้นไม่เหมือนกันซักเท่าไร เพราะ Ambient Display จะแสดงก็ต่อเมื่อหยิบขึ้นมาเป็นหลัก ซึ่งใช้ Accelerometer เข้ามาช่วย แต่ Active Display จะใช้ทั้ง Accelerometer และ Light Sensor เพราะนอกจากการหยิบเครื่องแล้ว ถ้าแสงที่ส่องเข้าเซ็นเซอร์วัดแสงมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะแสดง Active Display ด้วย และยังมีสถานะที่เรียกว่า Flat Up/Flat Down ด้วย เมื่อคว่ำเครื่องแล้วพลิกหงายขึ้นมาก็จะแสดง Active Display ทันที แต่สำหรับ Ambient Display ใน Nexus 6 กลับไม่มีอะไรแบบนี้

        ดังนั้น Ambient Display จะมีรูปแบบการแสดงผลที่ดีกว่า Active Display เพราะเป็นหน้า Lockscreen เลย แต่ Active Display มีวิธีการแสดงผลที่ฉลาดกว่า

        แต่ทั้งคู่ก็มีปัญหาที่เหมือนๆกันแต่ Ambient Display จะหนักกว่า คือ หน้าจอดันแสดงในเวลาที่ไม่ต้องการ เช่น อยู่ในกระเป๋ากางเกง โดยเฉพาะเวลาที่เดินอยู่ จะมีโอกาสทำให้หน้าจอไปเผลอกดโดน Notification ได้ง่าย แล้วกลายเป็นว่าหน้าจอเปิดทันที (จากนั้นจะกดโดนอะไรต่อก็ไม่รู้) กลายเป็นว่าเดินๆอยู่ก็รู้สึกว่าเครื่องร้อนๆ เพราะหน้าจอมันเปิดอยู่


กล้องใหม่อัพเกรดยิ่งขึ้น!!

        สำหรับ Nexus เกือบทุกรุ่นที่ผ่านมานั้นจะมีข้อด้อยกว่ารุ่น Flagship ก็ตรงที่คุณภาพกล้องที่ด้อยกว่า (แต่ก็ไม่ได้ถ่ายออกมาแย่ แค่คุณภาพสู้ไม่ได้เท่านั้น)  แต่ทว่ากับ Nexus 6 นั้นไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว ลืมไปได้เลยว่า Nexus กล้องห่วย



        เพราะกล้องหลังของ Nexus 6 ใช้เซ็นเซอร์ Sony IMX214 แบบเดียวกับ OnePlus One, Xiaomi Mi 4 หรือ Oppo Find 7/7A ที่มีความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ได้ภาพที่ความละเอียดสูงสุด 4128x3096 พิกเซล ถึงแม้จะได้ภาพที่ไม่ละเอียดเท่าหรือสวยเท่าบางเจ้า แต่เจ้าของบล็อกก็สามารถใช้ Nexus 6 เป็นกล้องประจำตัวได้เลย



        สำหรับการบันทึกวีดีโอก็รองรับสูงสุดถึง 4K ที่ 30 เฟรมต่อวินาทีแบบสบายๆ ไม่มีอาการกระตุกหรือหน่วง แต่ถ้าเครื่องร้อนๆก็คงไม่แน่ ดังนั้นเจ้าของบล็อกจึงไม่แนะนำให้ถ่าย 4K เป็นระยะเวลานานซักเท่าไร (เป็นทุกเครื่อง ณ ตอนนี้) ส่วน 1080P สามารถถ่ายได้ถึง 60 เฟรมต่อวินาที (ถ้าแอพนั้นๆรองรับ) และมีระบบกันสั่น OIS เพื่อช่วยให้การถ่ายวีดีโอนั้นนุ่มนวลดียิ่งขึ้น

        จากการทดสอบการถ่ายวีดีโอก็จะเห็นว่าภาพที่ได้นั้นค่อนข้างลื่นไหล และคมชัดสะใจ


        ขอบคุณตัวอย่างวีดีโอตอนกลางวันจาก +Varin Pornrojnangkool

        # วีดีโอตอนกลางคืน รอเพิ่มเติม

        ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 2.1 ล้านพิกเซล ความละเอียด 1920x1080 พิกเซล รองรับการถ่ายวีดีโอความละเอียด Full HD (1080P) แต่ไม่สามารถเลือกโฟกัสได้ เพราะเป็น Fixed Focus

        จากการทดลองถ่ายภาพดูก็พบว่าใช้ได้ไม่เลวเลย อาจจะไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้แย่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ถ่ายตอนกลางวัน



        การถ่ายวีดีโอสำหรับกล้องหน้า เจ้าของบล็อกไม่ได้ทดสอบนะครับ (ขออภัยด้วย) เนื่องจากไม่ค่อยได้ใช้ถ่ายวีดีโอกันมากนัก ส่วนใหญ่จะเน้น Selfie กันเป็นหลัก

        ในการถ่ายภาพ Selfie จากที่ลองให้คนอื่นทดสอบดู พบว่าทุกคนนั้นกดถ่ายไม่ถนัดเลย เพราะตัวเครื่องใหญ่มาก ทำให้การกดปุ่มถ่ายภาพบนหน้าจอนั้นลำบากมาก (กลัวเครื่องจะหลุดมือ)



        ซึ่งวิธีที่ง่ายกว่าคือให้กดที่ปุ่มเพิ่ม/ลดเสียงเพื่อทำการถ่ายภาพแทน (แอพถ่ายภาพส่วนใหญ่รองรับอยู่แล้ว)



        อีกหนึ่งจุดสนใจของ Nexus 6 ก็คือ Dual LED Ring Flash สุดแนว ที่มาเป็นวงกลมล้อมรอบกล้องหลัง โดยที่ด้านข้างทั้งสองมี LED Flash ฝังให้เห็นอยู่



        #รอภาพเพิ่มเติม


        ภาพถ่าย Panorama



        ภาพถ่าย Photosphere กดดูได้ที่นี่



ใช้งานอยู่รอดตลอดฝั่งมั้ย?

        Nexus 6 จะให้แบตเตอรีมา 3,320 mAh และบน Lollipop ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลแบตเตอรีเล็กน้อย โดยเฉพาะการคาดเดาระดับแบตเตอรีล่วงหน้า ว่าจะหมดในอีกกี่นาที่ หรือจะชาร์จแบตเต็มในอีกกี่นาที



        จากการทดลองเจ้าของบล็อกจะอิงการใช้งานปกติเลยคือลงแอพทั้งหมดที่เจ้าของบล็อกใช้ ก็พบว่าถ้าใช้งานปกติเปิดความสว่างหน้าจอ 50% แล้วใช้งานตามปกติในแบบฉบับของผมคือ ครึ่งชั่วโมงเช้าเล่น Thapster (บนรถไฟฟ้า BTS) จากนั้นก็ใช้งานจุกจิกปกติ และเล่น Thapster อีกครึ่งชั่วโมงตอนหัวค่ำ (บนรถไฟฟ้า BTS ขากลับ) จากแบต 100% ก็เหลือราวๆ 8% เท่านั้นเอง


        โดยตกอยู่ที่ประมาณ 3 นาทีลดลงไป 2% สำหรับหน้าจอความสว่าง 50% ทั้งนี้อาจจะเห็นจากภาพประกอบว่าเครื่องนั้น Awake อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเจ้าของบล็อกลงพวก  Facebook และ Line ที่มี Notification เข้ามาอยู่บ่อยๆด้วย และมีการชาร์จเล็กน้อยเพราะว่าเจ้าของบล็อกต่อกับคอมเพื่อโอนข้อมูลลงคอม


        ลองลดความสว่างลงไปประมาณ 30% แล้วเปิดวีดีโอดูหนึ่งชั่วโมง ก็ลดไปแค่ 20% เท่านั้น (ตกราวๆ 3 นาที 1%)



        และ Battery Saver นั้นถือว่าทำออกมาดีไม่น้อย เพราะจากที่ลองเปิดตอนที่แบตเหลือ 8% แล้วฟังแค่เพลง (แต่อย่างอื่นก็ไม่ได้ปิด ปล่อยให้ Battery Saver จัดการให้เอง) ผ่านไปครึ่งชั่วโมงก็ลดลงเหลือแค่ 6% เท่านั้น (อาจจะเพราะไม่ได้เปิดหน้าจอด้วย)

        สำหรับ Battery Saver มีไว้ฉุกเฉินยามแบตใกล้หมด เพื่อให้เครื่องสแตนบายได้นานขึ้น แต่ถ้าเปิดไว้แล้วยังใช้งานเครื่องตามปกติอยู่ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรอยู่ดี (Battery Saver ไม่ได้มีไว้ให้ใช้งานหนักๆ)


        แต่อย่าลืมว่าการทดสอบนี้เจ้าของบล็อกอิงการใช้งานปกติของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นผู้ใช้ทั่วไปน่าจะใช้งานน้อยกว่านี้ ก็น่าจะทำให้แบตอยู่ได้นานกว่านี้

        ส่วนการชาร์จจะรองรับกระแสสูงสุดถึง 1.5 - 1.6A และรองรับ Quick Charge 2.0 โดยจะให้ Adapter ที่เป็น Quick Charge 2.0 มาให้เลย โดยมีสเปคสำหรับการชาร์จปกติเป็น 5V/1.6A และแบบ Turbo 1 เป็น 9V/1.6A และ 12V/1.2A


        สำหรับการทดสอบชาร์จแบตเตอรีจาก 0% ไป 100% โดยปิดเครื่องชาร์จ ถ้าใช้อะแดปเตอร์ปกติ 5V/2A จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้อะแดปเตอร์ Quick Charge 2.0 จะใช้เวลาประมาณ 1.30 ชั่วโมง

        และถ้าเปิดเครื่องทิ้งไว้ขณะชาร์จถ้าใช้อะแดปเตอร์ปกติ 5V/2A จะใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้อะแดปเตอร์ Quick Charge 2.0 จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

        ที่ Quick Charge 2.0 ชาร์จไวขึ้นแค่ครึ่งชั่วโมงก็เพราะว่าเป็นการทดสอบจาก 0% ไป 100% ซึ่ง Quick Charge 2.0 จะชาร์จไวในช่วง 0% ถึง 70% (ตกนาทีละ 1%) และเมื่อเกิน 70% ขึ้นไปก็จะเริ่มช้าลง จึงทำให้ใช้เวลาค่อนข้างนาน (แต่ก็ไวกว่าชาร์จด้วยอะแดปเตอร์ปกติ)


เคลือบสารกันน้ำตามแบบฉบับของ Motorola

        เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของ Motorola เลยก็ว่าได้  ถึงแม้ว่าเครื่องที่ผลิตจาก Motorola จะไม่ได้กันน้ำได้ แต่ทว่าก็มีการเคลือบสารกันน้ำที่วงจรของตัวเครื่องด้วย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เครื่องจะพังเมื่อเครื่องโดนน้ำหรือตกน้ำ

        ซึ่งก็ได้มีคนทดสอบเอาเจ้า Nexus 6 ไปแช่น้ำทดสอบเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงแล้ว และก็พบว่ายังสามารถทำงานได้ปกติเหมือนเดิม



        แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าอย่าทำตามนะครับ เพราะ Nexus 6 ไม่ได้บอกกว่ากันน้ำ แต่เคลือบสารกันน้ำเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องเสียหายได้ง่ายต่างหาก


ความรู้สึกจากการลองใช้งาน

        จากการลองใช้งานอยู่สองสัปดาห์เต็มๆก็รู้สึกได้เลยว่า ตัวเครื่องใหญ่มากจนเด่นกว่าเครื่องอื่นๆ ต้องใส่กระเป๋าหลังบ้าง กระเป๋าเสื้อบ้าง แต่ยามใดที่หยิบมาเล่นเกมเล่นเฟสแล้วล่ะก็ รู้สึกว่าเล่นสะดวกกว่ามากเมื่อเทียบกับจอ 4.7 นิ้วของเครื่องที่ใช้อยู่ จนเริ่มจะเข้าใจความรู้สึกของคนที่ชอบจอใหญ่แล้วล่ะ

        ตัวเครื่องเรียกได้ว่าขนาดใหญ่มาก จนใครหลายๆคนเห็นก็ตกใจว่าทำไมมันใหญ่เวอร์ได้ขนาดนี้ ทำให้เวลาถือเล่นด้วยมือเดียวทำได้ยากมาก ต่อให้คนมือใหญ่ก็ตาม เพราะเอื้อมได้ไม่ทั่วจอ



        ตอนใส่กระเป๋ากางเกงก็แน่นเกิน (ใส่แล้วนั่งไม่ได้ เพราะติด) เลยต้องใส่กระเป๋าหลังอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังเลยออกมาจากกระเป๋าหลังอยู่ดี (แต่นั่งทับแล้วเครื่องไม่งอนะเออ)



        ถึงแม้ว่าจะเล่นเกมได้ง่ายขึ้นก็ตาม แต่กับบางเกมก็กดยากขึ้นเช่นกัน อย่างเช่น Thapster หรือ Cytus ที่ต้องกดไกลๆ เวลาถือเล่นจะต้องเอื้อมนิ้วไปกดอีกฝั่งจะทำได้ยากมาก ต้องเปลี่ยนท่าจับให้หลวมๆเพื่อให้เอื้อมนิ้วไปแตะหน้าจอได้



        และปุ่ม Power ก็อยู่ในตำแหน่งที่พอดีเป๊ะกับนิ้วในเวลาที่ถือเครื่องในแนวนอน จึงทำให้บางทีเผลอกดไปโดนปุ่ม Power ได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เพราะหมุนเครื่องจับอีกฝั่งแทนก็ไม่มีปัญหาแล้ว



        ที่ไม่ชอบที่สุดอย่างหนึ่งบน Lollipop เลยก็คือ Head-up Notification ซึ่งเป็นเหตุผลโคตรส่วนตัว เพราะว่าเจ้าของบล็อกเล่น Thapster แล้วเกมเล่นในแนวนอน เวลาที่มี Notification แสดงขึ้นมา มันก็จะไปบังปุ่มที่จะต้องกด ทำให้เล่นลำบาก กดผิดง่ายเวลามี Notification เด้งขึ้นมา


        เป็นเหตุผลส่วนตัวที่โคตรไร้สาระจริงๆ


        ถ้าใครที่ใช้ Lollipop อยู่ อย่างเช่น Nexus 4, Nexus 5 หรือ LG G3 อาจจะเห็นฟีเจอร์เพิ่มเติมสำหรับนักพัฒนา นั่นก็คือโหมดสีที่จะแสดงออกหน้าจอ โดยมี Monochromacy หรือขาวดำให้เลือกด้วย ซึ่งปกติจะทำให้เครื่องทำงานช้าขึ้น เพราะว่าระบบจะแปลงจากภาพสีให้เป็นภาพขาวดำอีกที จึงทำให้บนเครื่องหลายๆรุ่นกระตุกขึ้น



        แต่สำหรับ Nexus 6 ที่พลังเหลือเฟือก็สามารถเปิดขาวดำเล่นๆได้โดยไม่กระตุก แถมยังเล่นเกมอย่าง Asphalt 8 ระหว่างเปิดโหมดขาวดำได้อีกด้วย


        ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เครื่องประหยัดแบตลงซักเท่าไร เพราะว่าหน้าจอก็ยังคงแสดงสีขาวที่กินไฟมากสุดอยู่ดี แถมยังเปลืองแบตมากขึ้นเพราะเครื่องประมวลผลมากกว่าเดิม


        และถึงแม้ว่าจะเป็น Pure Android แต่เจ้าของบล็อกก็ยังเจอบั๊กในบางครั้ง ซึ่งอยู่ดีๆก็เป็น อย่างเช่นแอพกล้องเข้าใจงานไม่ได้ ต้อง Restart เครื่องใหม่ถึงจะใช้ได้



        หรืออยู่ดีๆก้ค้าง ไม่ขึ้นหน้าจอตามปกติดังวีดีโอตัวนี้ (เจอแค่ครั้งเดียว)



        และเจอปัญหาเครื่องร้อนเวลาใช้งานหนักๆแล้วเครื่องจะกระตุกเล็กน้อย และรู้สึกว่าเครื่องร้อน แต่เมื่อลองวัดอุณหภูมิในเครื่องจะสูงสุดแค่ 45 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลเสียอะไร อาจจะหมายความว่าสามารถระบายความร้อนได้ดี และการใช้งานปกติจะอยู่ประมาณ 35 องศาเซลเซียส



การใช้งานอื่นๆ

        ตัวเครื่องที่รีวิวนี้เป็นรุ่น XT1100 ที่รองรับ LTE ในบ้านเรา จึงทำให้รู้ว่าในหลายๆพื้นที่นั้นรองรับ LTE แล้ว



        GPS ใช้งานได้ดีมาก จับตำแหน่งได้ค่อนข้างไวเลยล่ะ



        ใช้งานคู่กับ Moto 360 ก็เข้ากันอย่างลงตัว (รู้สึกว่า Moto 360 จอเล็กลงไปในทันที)



        รองรับ OTG ได้ไม่มีปัญหา แต่ไม่รองรับ MHL หรือ Slim Port



        สำหรับ Double Tap to Wake แบบเดียวกับ Nexus 9 ก็รองรับบน Nexus 6 ได้เช่นกัน แต่ทว่าไม่ได้รองรับโดยตรง เพราะต้อง Flash Script ผ่าน Custom Recovery เพื่อเปิดใช้งานก่อน หรือพูดง่ายๆก็คือไม่รองรับ แต่ก็สามารถทำให้รองรับได้เช่นกัน


ข้อมูลสำหรับนักพัฒนา

        • Version : Android Lollipop 5.0.1 API 21
        • Screen Resolution : 2560x1440 px และ 731x411 dp
        • Density : 560dp หรือ DENSITY_560
        • Screen Size : Normal
        • Rear Camera
                • Supported Picture Size : 4160x3120 px (Max) / 320x240 px (Min)
                • Supported Video Size : 3840x2160 px (Max) / 176x144 px (Min)
        • Front Camera
                • Supported Picture Size : 1920x1080 px (Max) / 176x144 px (Min)
                • Supported Video Size : 3840x2160 px (Max) / 176x144 px (Min)
        • Internal Storage : 55.960 GB
        • Memory : 3041.412 MB
        • Heap Size : 512 MB
        • Connectivity : WiFi / Bluetooth 4.1 /  GPS / NFC / USB Host / USB Accessory / WiFi Direct
        • Hardware Sensor : Accelerometer / Magnetometer / Gyroscope / Proximity / Light / Barometer
        • Software Sensor : Rotation Vector / Game Rotation Vector / Geomagnetic Rotation Vector / Orientation Sensor / Linear Acceleration / Gravity Sensor / Tilt Sensor / Step Detector / Step Detector / Signigicant Motion


สรุป

        Nexus 6 เรียกได้ว่าเร็วและแรงสมกับเป็น Pure Android และในคราวนี้ผลิตขึ้นภายใต้ Motorola จึงทำให้ Nexus 6 มีคุณภาพค่อนข้างดีมาก ค่อนข้างประทับใจในดีไซน์และงานประกอบของตัวเครื่อง โดยเฉพาะกล้องหลังที่พัฒนาขึ้นอย่างมากจนสามารถบอกได้เลยว่า "ใครว่า Nexus กล้องห่วย" อีกทั้งยังมาพร้อมกับหน้าจอขนาดใหญ่ลำโพงดังสะใจ เหมาะแก่การ Entertainment อย่างยิ่ง จนเจ้าของบล็อกรู้สึกว่าเล่นเกมบน Nexus 6 แล้วได้อรรถรสมากขึ้น



        แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อด้อยอยู่บางอย่างเช่น เครื่องร้อนแล้วรู้สึกว่าเครื่องกระตุกนิดหน่อย (แต่ก็ทำให้เจ้าของบล็อกขัดใจอยู่บ้าง) ตัว Lollipop ยังมีบั๊กบางอย่างอยู่ หรือหน้าจอที่ใหญ่เกินจนพกพายาก และราคาสุดแพงจนใครหลายๆคนไม่คิดว่านี่คือราคาของ Nexus ด้วยซ้ำ และหลายๆคนก็คาดหวังว่ามันน่าจะใช้ CPU เป็นตัว 64-bit เพื่อต้อนรับการมาของ Lollipop แต่ก็กลับเป็น Qualcomm Snapdragon 805 ที่เป็น 32-bit ซะงั้น

        นอกจากนี้ยังมีปัญหาในบางเครื่องอย่างเช่น ฝาหลังบวมเป่ง หรือเลนส์กล้องโฟกัสภาพเพี้ยนเป็นต้น ซึ่งถ้าหิ้วมาก็ต้องเตรียมรับความเสี่ยงกันให้ดี



        สำหรับเจ้าของบล็อกก็คงรู้สึกว่า Nexus 6 มันเจ๋งนะ แต่ก็ยังไม่สุด เหมือนขาดอะไรไปนิดหน่อย อีกทั้งราคาทำเอากระอักเลือดได้ง่ายๆ แต่ถ้าคุณเป็นสาวก Nexus และไม่มีปัญหากับราคาแบบนี้แล้วล่ะก็ ผมก็ขอแนะนำตัวนี้เลย


ข้อดี
        • เร็ว แรง ลื่นตามแบบฉบับของ Pure Android
        • งานประกอบดี ดีไซน์ตามแบบฉบับของ Motorola
        • ลำโพงสเตอริโอคู่หน้าเสียงดังฟังชัด
        • หน้าจอ AMOLED ใหญ่สะใจ และคมชัดละเอียดทุกรูขุมขน
        • กล้องดีขึ้นเป็นอย่างมาก
        • Dual Ring LED Flash เท่ไม่เหมือนใคร
        • อัพเดทเวอร์ชันใหม่ล่าสุดก่อนใคร ตามสไตล์ Nexus

ข้อเสีย
        • แอพบางตัวยังไม่รองรับ
        • มีบั๊กจากการใช้งานนิดหน่อย (แก้ได้ด้วยการอัพเดทในวันหน้า)
        • แบตน่าจะใช้งานได้นานกว่านี้
        • เครื่องร้อนแล้วออกอาการกระตุกให้เห็น
        • มาพร้อมกับ Lollipop แต่ดันใช้ CPU เป็น 32-bit
        • พกใส่กระเป๋ากางเกงค่อนข้างยาก
        • ราคาแรงเกินไป เห็นแล้วอกอีแป้นจะแตก
        • เครื่องหิ้วไม่มีประกัน
        • Ambient Display ไม่ฉลาดเท่าที่ควร และทำให้หน้าจอเปิดได้ง่าย


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

        • https://www.phonearena.com/phones/Google-Nexus-6_id8626
        • https://www.google.com/nexus/6/
        • https://www.ifixit.com/Teardown/Nexus+6+Teardown/32877
        • https://www.gsmarena.com/motorola_nexus_6-6604.php
        • https://www.qualcomm.com/products/snapdragon/gpu
        • https://www.notebookcheck.net/Qualcomm-Snapdragon-805-APQ8084-SoC.108360.0.html
        • https://www.qualcomm.com/products/izat
        • https://www.nxp.com/documents/short_data_sheet/TFA9890A_SDS.pdf