25 December 2014

รู้จักเครื่อง ก่อนคิดจะเขียนแอพฯ

Updated on


        สำหรับนักพัฒนาแอนดรอยด์ทุกคนนั้นจะต้องมีอุปกรณ์แอนดรอยด์คู่กายอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง (หรือมากกว่านั้น) ดังนั้นเจ้าเครื่องข้างกายนี่แหละที่จะเป็นคู่หูของนักพัฒนาที่จะต้องใช้ฝึกเขียนและลองทดสอบ

        แต่พอลองคิดดูเล่นๆว่า "คุณรู้จักเครื่องของคุณดีแค่ไหน?" สิ่งที่เจ้าของบล็อกพบก็คือมีผู้ที่หลงเข้ามาอ่านรู้จักกับเครื่องของตนเองน้อยเกินไป ไม่รู้ว่าเครื่องนั้นทำอะไรได้บ้าง มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ดังนั้นวันนี้เจ้าของบล็อกจึงขอหยิบมาเป็นหัวข้อบทความให้อ่านกันเล่นๆ


ทำไมต้องมานั่งทำความรู้จักกับเครื่องที่ใช้อยู่?

        ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านคนใดที่คิดแบบนี้ ให้เขกโต๊ะสิบทีเป็นการลงโทษนะครับ

        เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าอุปกรณ์แอนดรอยด์บนโลกนี้นั้นมีหลากหลายมาก จนเกิดคำว่า Fragmentation ขึ้นมาเพื่อบ่งบอกว่าแอนดรอยด์นั้นมีสเปคต่างกันเยอะมาก โดยเฉพาะฮาร์ดแวร์

        ปัญหายอดนิยมของนักพัฒนาแอนดรอยด์ นั่นก็คือ "เครื่องนี้ทำงานได้ แต่เครื่องนู้นดันทำงานไม่ได้" ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านยังไม่รู้จักแต่ละเครื่องดีพอยังไงล่ะ และบางครั้งเครื่องรุ่นเดียวแต่ทำงานได้ไม่เหมือนกันก็มีถมไปนะเออ

        ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการรู้จักก็ควรจะเป็นเครื่องข้างกายนี่แหละ เหมาะที่สุดแล้ว~ (ถ้าเครื่องที่ใช้อยู่ประจำยังรู้จักไม่ดีพอ แล้วเครื่องอื่นๆที่ไม่ได้ใช้บ่อยๆจะไปรู้จักอะไรได้ล่ะเนอะ)



ใช้บ่อย แต่ไม่รู้ว่ามันทำอะไรได้บ้าง

        ถึงแม้ว่าแอนดรอยด์นั้นสามารถทำได้หลากหลาย แต่บางทีอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดที่มีก็ได้ แต่ก็ขอให้รู้ในส่วนที่จะต้องใช้ในการพัฒนาแอพฯ ถ้าต้องเขียนแอพฯเพื่อใช้งานกล้องบนอุปกรณ์แอนดรอยด์ ก็ควรต้องรู้พารามิเตอร์ที่เกี่ยวกับกล้องของเครื่องนั้นๆ

        เช่น ความละเอียดของกล้อง รูปแบบของไฟล์ภาพที่รองรับ เพราะถ้าไม่รู้ค่าเหล่านี้เวลาเรียกใช้งานก็อาจจะเกิดปัญหากำหนดค่าไม่ถูกต้อง ทำให้ใช้งานไม่ได้ หรือการเขียนแอพฯเพื่อใช้งาน NFC ก็ต้องดูด้วยว่าเครื่องมี NFC หรือไม่ และรองรับคำสั่งที่จะเรียกใช้งานหรือไม่ เป็นต้น



เมื่อรู้จักดีแล้วก็จงรู้จักเครื่องอื่นๆให้มากขึ้น

        เนื่องจากผู้ที่หลงเข้ามาอ่านไม่ได้เขียนแอพฯแค่สำหรับเครื่องตัวเองเท่านั้น และก็ไม่สามารถไปจำกัดว่าจะให้เครื่องไหนดาวน์โหลดได้บ้าง เพราะควรรองรับให้ครอบคลุมที่สุดเท่าที่ทำได้

        ดังนั้นจึงต้องลองหาข้อมูล ลองศึกษาเครื่องอื่นๆดูด้วย เพื่อให้รู้ว่าเครื่องของผู้ใช้ทั่วไปนั้นต่างอะไรยังไงบ้าง เพื่อที่ว่าจะได้เขียนโค๊ดให้รองรับ หรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น


        ถึงแม้ว่าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านอาจจะไม่ได้ทดสอบกับทุกเครื่องที่มี แต่ทว่าก็ควรรู้ข้อมูลที่สำคัญๆสำหรับเครื่องยอดนิยมใช้งานกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลังเมื่อเผยแพร่แอพฯบน Google Play Store

        ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำ ก็คือ..

        ทำความรู้จักกับเครื่องของตนเองซะ!!!!