Android Dev Tips
Case Study ที่ไม่ต้องเขียนโปรแกรมเป็นก็ขายแอปพลิเคชันได้
Updated onจั่วหัวบทความวันนี้ยังกะพวกโฆษณาหลอกหารายได้ยังไงยังงั้น ฮ่าๆ แต่ทว่าวันนี้จะมาเล่าสู่กันฟังกับหัวข้อที่น่าสนใจ เพราะเจ้าของบล็อกเคยพูดถึงแนวทางการขายแอปพลิเคชันบน Google Play ไว้เพื่อให้มือใหม่ได้อ่านเป็น Guideline [Android Dev Tips] เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการขายแอปพลิเคชันแอนดรอยด์
แต่ก็ใช่ว่าทำตามนั้นเป๊ะๆแล้วจะทำให้ขายแอปพลิเคชันได้เสมอไป เพราะว่านั่นก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่อยากให้รู้ก่อนที่จะเริ่มขายซะมากกว่า เพราะในความเป็นจริงก็มีปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้สามารถขายแอปพลิเคชันได้และก็มีปัจจัยที่ทำให้ขายไม่ออกเช่นกัน
วันนี้ก็เลยหยิบ Study Case จากคนที่รู้จักมาเล่าสู่กันฟังว่าถึงแม้แอปพลิเคชันจะไม่เริดหรู ฟีเจอร์โหด ลูกเล่นบานเบอะ ก็สามารถขายแอปพลิเคชันได้เช่นกัน
บุคคลที่จะเอามาเป็น Study Case ที่มีนามว่า TwaintyFour ซึ่งเป็นรู้จักกันในกลุ่มผู้ใช้แอนดรอยด์ด้วยกันนี่แหละ แต่ทว่าพี่แกเป็นเกย์!! เอ้ย! เป็น Graphic Designer คนหนึ่งที่ชอบแต่ง Theme Widget ในอุปกรณ์แอนดรอยด์เป็นชีวิตจิตใจ แต่สิ่งที่ต่างจากคนธรรมดาๆที่ชอบทำแบบเดียวกันก็คือ พี่แกชอบแชร์ Theme Widget ให้คนอื่นนำไปใช้ฟรีๆ
ว่าแล้วก็โฆษณาเว็ปให้เลยละกัน (ถ้าพี่มาเห็นข้อความนี้แล้ว ก็จงจ่ายค่าโฆษณามาทางหลังไมค์ซะดีๆ) https://twaintyfour.wordpress.com/
ทำแล้วได้อะไร?
คำถามนี้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านหลายๆคนอาจจะเคยพบเจอกันมาบ้าง หรือถามคนอื่นกันบ้าง และเจ้าของบล็อกก็เคยเจอคนถามอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ว่าไอสิ่งที่ทำอยู่นี้ทำแล้วมันได้อะไร ซึ่งการทำ Theme Widget นั้นก็คงถูกตั้งคำถามไม่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเพราะว่าชอบ หรืองานอดิเรก หรืออื่นๆแล้วแต่
แต่ในกรณี Study Case นี้ทำให้เกิดกลุ่มผู้ใช้แอนดรอยด์ที่ชอบผลงานของพี่แกอยู่พอสมควร จึงทำให้เป็นที่รู้จักของผู้ใช้ในกลุ่มคนที่ชอบแต่ง Theme Widget แถมเป็นฝีมือของ Graphic Designer ผลงานออกมาก็ยิ่งมีสไตล์ที่ดูดีกว่าผลงานของทั่วๆไป และที่สำคัญคือสามารถทำให้คนรู้จักได้ทั่วโลก ไม่ได้แค่เฉพาะกลุ่มคนไทยด้วยกัน (นี่ล่ะคือจุดที่เป็นที่มาในตอนถัดไป)
จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนทักพี่แกว่า
ทำไมไม่ลองทำขายใน Google Play ดูล่ะ?
เจ้าของบล็อกเชื่อว่าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบางท่านอาจจะเคยเจอคนที่มาพูดประมาณนี้แล้วเช่นกัน แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาและทำให้ต่างจากทั่วๆไปก็คือ
"เดี๋ยวผมจะซื้อ"
ซึ่งตรงจุดนี้เจ้าของบล็อกคิดว่าน่าหยิบมาศึกษาอยู่ไม่น้อย เพราะใครๆก็พูดแนะนำให้ทำขายใน Google Play ก็ได้ทั้งนั้น แต่ทว่าจะอุดหนุนซื้อแอปพลิเคชันด้วยหรือป่าวนี่สิ
ทำให้จากคนที่รู้จักกันและแนะนำได้ผันมากลายเป็น "ลูกค้า" ไปโดยปริยาย และไม่ใช่แค่เพียงคนเดียวด้วย เพราะว่ามีคนรู้จักเป็นพื้นฐานระดับหนึ่งที่สนใจอยากจะอุดหนุนผลงานนั่นเอง และส่วนใหญ่ก็เป็นคนต่างประเทศที่เค้าสนใจนี่ล่ะ (ถ้าพูดกันตรงๆก็คือ คนต่างประเทศเค้าเต็มใจที่จะซื้อแอปพลิเคชันที่เค้าชอบ ซึ่งต่างจากบ้านเราที่น้อยคนมากที่คิดแบบนี้ได้) จึงทำให้พี่แกเริ่มที่สนใจจะลองดูซักตั้งกับการขายแอปพลิเคชันบน Google Play
เขียนโปรแกรมไม่เป็นไม่ใช่หรอ? แล้วจะทำขายได้ยังไง?
ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านหลายๆคนอาจจะคิดว่า ต้องเขียนแอปพลิเคชันขายนั้นก็หมายความว่าต้องเขียนโปรแกรมเป็น แต่นั่นก็ไม่ใช่เสมอไป เพราะบนแอนดรอยด์ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Theme อยู่นั่นเอง และเจ้าของบล็อกเชื่อว่ามีผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบางคนยังไม่รู้ว่าบนแอนดรอยด์มีสิ่งที่เรียกว่า Launcher, Theme และ Widget อยู่ ซึ่งแอปพลิเคชันจำพวก Launcher เหล่านี้ก็จะมีเจ้าดังๆอยู่เช่น Go Launcher, ApexLauncher หรือ Zooper Wiget เป็นต้น
ซึ่งแอปพลิเคชันเหล่านี้จะสามารถให้นักพัฒนาคนอื่นๆสามารถทำแอปพลิเคชันที่เป็น Theme หรือ Style เพื่อรองรับบนแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ หรือยกตัวอย่างง่ายๆก็คือ สามารถทำ Theme Launcher สวยๆเพื่อให้ผู้ใช้ Launcher ของเจ้านั้นๆสามารถเปลี่ยน Theme ให้เป็นตัวอื่นๆนอกเหนือจากที่มีในแอปพลิเคชันได้นั่นเอง
ดังนั้นพี่แกจึงทำ Skin สำหรับ Theme ให้กับแอปพลิเคชันเหล่านี้นั่นเอง โดยเริ่มจาก Zooper Widget ที่พี่แกแต่งเล่นอยู่ประจำนี่ล่ะ ซึ่งแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็มี Guideline Template ให้สำหรับนักพัฒนาอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องเขียนโปรแกรมเองแต่อย่างใด
โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวก็ทำแจกฟรีและขายปนๆกันไป ราคาก็ขายแค่ $0.99 หรือ 32 บาท
จนถึงตอนนี้ผ่านไปหนึ่งเดือน ก็มีทั้งคนที่โหลดตัวฟรีและตัวขาย ตอนนี้รายได้ทะลุ $100 แบบนิ่มๆไปแล้ว โดยไม่ต้องวาง Business Model หรือทำ Marketing แต่อย่างใดเลย และที่เจ้าของบล็อกสนใจก็คือผู้ใช้ที่เต็มใจจะอุดหนุนซื้อนั่นเอง ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆที่แอปพลิเคชันมีปัญหาซื้อไปแล้วไม่สามารถใช้งานได้ ผู้ใช้เหล่านี้ก็พร้อมใจที่จะรอให้พี่แกนั่งแก้ไขจนมันใช้ได้ (นึกภาพ Graphic Designer ต้องมาแก้บั๊กโปรแกรมดูสิ ฮ่าๆ) และไม่คิดที่จะกด Refund เพื่อคืนเงิน (นี่มันลูกค้าในฝันของเหล่านักพัฒนาแอปพลิเคชันชัดๆ!!)
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำยอดดาวน์โหลดทะลุหลักหมื่นหลักแสน หรือได้ค่าโฆษณาวันละเป็นหมื่นเป็นพันแบบนักพัฒนาหลายๆคน แต่ทว่าถ้าลองมองในแง่ Successful ถือว่าไม่เลวเช่นกัน ถ้าเทียบกับหลายๆแอปพลิเคชันแล้ว บางตัวอาจจะขายแบบนี้ไม่ได้เลย ถึงแม้ว่าจะตั้งราคาเท่าๆกันและมีความสามารถที่เหนือกว่าก็ตาม นั่นก็คงเพราะขาดบางสิ่งบางอย่างไป นั่นก็คือ "การเป็นที่ชื่นชอบ" และ "เต็มใจที่จะซื้อแบบไม่ลังเล" ซึ่งเจ้าของบล็อกว่าอย่างหลังนี่ทำได้ยากกว่าปั่นยอดดาวน์โหลดซะอีก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าการเขียนโปรแกรมไม่เป็นก็จะสามารถหารายได้จากแอปพลิเคชันได้เสมอไป เพราะของแบบนี้มันมีปัจจัยหลายอย่างมากมายอยู่เสมอ แต่ที่สำคัญก็คือการคว้าโอกาสและพยายามนั่นเอง ซึ่งผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบางคนเลือกที่จะทิ้งมันไปทั้งๆที่คนอื่นอาจจะไม่ได้มีโอกาสแบบนี้ และที่เอามาเล่าให้ฟังก็เพื่อเป็นการแชร์ประสบการณ์ให้ได้รู้กันว่าแบบนี้ก็มีด้วย เพื่อเป็นแนวทางและเป็นแรงผลักดันให้กับผู้ที่หลงเข้ามาอ่านหลายๆคนที่อยากจะหารายได้จากการทำแอปพลิเคชันนั่นเอง XD
เลิกเขียนบล็อก แล้วไปหัดวาดรูปดีกว่า...
ที่มาของรูปภาพ
TwaintyFour [Google Play]
TwaintyFour [Wordpress]