Android Dev Tips
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการขายแอปพลิเคชันแอนดรอยด์
Updated onเป็นที่แน่แท้อยู่แล้วว่านักพัฒนาอย่างเราๆนั้นก็ไม่ได้ต้องการทำแอปพลิเคขันเพื่อให้ใช้ฟรีเสมอไป เป้าหมายหลักๆของนักพัฒนานั้นก็คือการหารายได้อย่างการขายแอปพลิเคชันบนสโตร์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ใช่ว่าอยู่ๆจะเขียนปุปปัปแล้ววางขายในทันที เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วว่าผู้ใช้จะกดซื้อแอปพลิเคชันของผู้ที่หลงเข้ามาอ่าน ดังนั้นก่อนคิดจะขายแอปพลิเคชันนั้น มีอะไรที่ต้องคำนึงถึงบ้างล่ะ?
ดังนั้นบทความนี้จะเป็นแนวคิดคร่าวๆจากเจ้าของบล็อกเพื่อให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านได้ไตร่ตรองก่อนว่าการขายแอปพลิเคชันแอนดรอยด์ควรจะมีอะไรที่ต้องรู้บ้าง ไม่ใช่ว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย คิดจะขายแอปพลิเคชันลูกเดียว
ลองซื้อแอปพลิเคชันของนักพัฒนาคนอื่นดูก่อน
อันนี้ถึงจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่เจ้าของบล็อกก็จะขอพูดถึงเป็นอย่างแรก เพื่อให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านได้รับรู้ความคิดในมุมมองของผู้ซื้อก่อนว่า แอปพลิเคชันแบบไหนเราถึงจะยอมซื้อ เพื่อเรียนรู้ว่าแอปพลิเคชันที่ขายๆกันบน Google Play นั้นเป็นยังไงบ้าง
และที่สำคัญ ถ้าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านยังไม่คิดจะซื้อแอปพลิเคชันของนักพัฒนาคนอื่น ก็อย่าหวังว่าคนอื่นจะซื้อแอปพลิเคชันของผู้ที่หลงเข้ามาอ่านเลย
แอปพลิเคชันที่จะขาย ต่างจากแอปพลิเคชันแจกฟรีหรือป่าว?
ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบางคนเขียนแอปพลิเคชันแทบตายโดยหวังว่าจะขายได้ขายดี แต่สุดท้ายกลับมาพบว่ามีนักพัฒนาคนอื่นได้ทำเหมือนกันแล้ว แถมเป็นแบบแจกให้ดาวน์โหลดฟรีเสียด้วย
ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ให้ลองกลับมามองที่แอปพลิเคชันของผู้ที่หลงเข้ามาอ่านว่า ที่เขียนขึ้นมานี้มีอะไรที่แตกต่างไปจากตัวอื่นๆที่แจกฟรี ถ้าไม่มีจุดเด่นหรือความสามารถที่ดีกว่าก็เตรียมใจเจ๊งได้เลย
ใช้ง่ายเข้าใจได้ไม่ยาก และต้องมีดีพอ
การใช้งานที่ดูยุ่งยาก ทำให้ใช้งานทีไรก็ไม่ค่อยถนัด สิ่งเหล่านี้แหละที่จะทำให้ผู้ใช้งานหันมายอมซื้อแอปพลิเคชันที่ทำงานเหมือนกัน แต่ว่าสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของ UX ได้ดีกว่า
เพราะงั้นก็ต้องพิจารณาว่าแอปพลิเคชันของผู้ที่หลงเข้ามาอ่านมี UX ที่ตอบโจทย์กับผุ้ใช้งานหรือไม่ เพราะความรู้สึกใช้สะดวกแต่ยังคงความสามารถของตัวแอปพลิเคชันได้อยู่ ก็จะทำให้มีโอกาสขายได้นะเออ ดังนั้นการออกแบบรูปแบบการทำงานของแอปพลิเคชันจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเช่นกัน
หน้าตาดูดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
แอปพลิเคชันบางตัวที่แจกฟรีจะมีจุดด้อยอย่างนึงเลยก็คือ UI ไม่ค่อยสวย ไม่มีความสวยงาม หน้าตาดูพื้นๆไม่ค่อยดึงดูดให้ใช้ ในขณะเดียวกันแอปพลิเคชันที่มี UI ที่ดูดีดูสวยก็จะเพิ่มความน่าสนใจได้มากกว่าเป็นเท่าตัว
ดังนั้นเรื่อง Design ควรใส่ใจมันบ้าง ยอมเสียเวลาเขียนอะไรเพิ่มเข้าไปหน่อย ถึงแม้ว่าจะดูไม่มีประโยชน์ อย่างเช่นการเลือกธีมภายในแอปพลิเคชันได้ หรือจะลงทุนเสียเวลานั่งเขียน Custom View บางตัวเพื่อให้สวยและเหมาะกับแอปพลิเคชัน ไม่ใช่ว่า View ทุกอย่างใช้เป็น Design ที่เป็นของระบบแอนดรอยด์ทั้งหมด เพราะมันจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าแอปพลิเคชันตัวนี้ไม่เห็นจะต่างกับตัวอื่นๆเลย
มันตอบโจทย์ในชีวิตจริงได้หรือไม่?
นักพัฒนาหลายๆคนคิดจะเขียนแอปพลิเคชันเพื่อทดแทนบางอย่างที่ใช้อยู่ในชีวิตจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่เหมือนกัน แต่ก็ต้องดูว่ามันทดแทนได้ดีจริงหรือ?
เจ้าของบล็อกเคยเจอคนเขียนแอปพลิเคชันเพื่อกันรถโดนขโมย โดยให้ซื้อแอนดรอยด์ซักเครื่องลงแอปพลิเคชันตัวนี้แล้วทิ้งไว้ในรถ ซึ่งในความเป็นจริงผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็รู้สึกไม่ค่อยเห็นด้วยอยู่แล้วว่าทำไมต้องมาซื้อมือถือเพื่อเอามาทิ้งไว้ในรถ ซึ่งในความเป็นจริงยอมซื้อ GPS Tracker สำหรับรถยนต์ไปเลยก็ดีกว่า มีความปลอดภัยสูงกว่า ความน่าเชื่อถือสูงกว่า แถมทำงานได้ดีกว่าด้วย
ดูกลุ่มตลาดที่จะเป็นเป้าหมาย
แอปพลิเคชันเฉพาะทางก็ย่อมจะมีโอกาสขายได้น้อยกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าอยากจะขายได้ก็ลองพิจารณาดูบ้างว่าแอปพลิเคชันที่จะทำนั้น ครอบคลุมกลุ่มตลาดใดบ้าง น้อยเกินไปหรือป่าว เพราะผู้ใช้แอนดรอยด์บนโลกนี้มีหลากวัยหลากรุ่นหลากอาชีพ ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์เสียหน่อยล่ะ เพื่อให้จับกลุ่มตลาดได้และประชาสัมพันธ์ได้ถูกจุด
หรือถ้ายังไม่ได้เริ่มทำก็ควรวางแผนก่อนว่าควรเป็นแอปพลิเคชันแบบไหนถึงจะครอบคลุมตลาดกลุ่มใหญ่ๆได้ อย่างเช่นผู้ใช้ทั่วๆไปทุกวัยทุกเพศ เป็นต้น
ถามคนอื่นบ้างว่าเค้าคิดอย่างไรถ้าจะต้องซื้อแอปพลิเคชันของผู้ที่หลงเข้ามาอ่าน
สิ่งที่นักพัฒนาหลายๆคนมักจะลืมกันก็คือ Feedback อาจจะเพราะมัวแต่เขียนแอปพลิเคชันแล้วติ๊ต่างไปว่ามันต้องขายได้แน่ๆ แต่ทว่าอยากจะให้ลองถามคนรอบข้างหรือลองถามใครซักคนที่ไม่รู้จักกันดูว่า "ถ้าเป็นคุณ คุณจะซื้อแอปพลิเคชันตัวนี้หรือไม่ เพราะอะไร" เพราะถ้าคุณสุ่มผู้ใช้แอนดรอยด์จริงๆซักสิบคน (ถ้าเป็นคนที่ซื้อแอปพลิเคชันเป็นประจำจะยิ่งดีมาก) แล้วไม่มีคนไหนที่คิดจะซื้อ ก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่เสียแล้วล่ะ และที่สำคัญอย่าลืมดูว่าเพราะอะไรถึงไม่ซื้อ
เมื่อขายแล้วก็หาทางทำให้ผู้ใช้รู้จักหรือติด Top Search ด้วย
นักพัฒนาหลายๆเจ้ายอมลงทุนเสียเงินโปรโมทแอปพลิเคชันเพื่อให้ติดอันดับในการค้นหา เพราะมันจะช่วยให้ผู้ใช้เห็นแอปพลิเคชันของเราได้ง่ายๆ ถ้าแค่ค้นหาแอปพลิเคชันแล้วยังไม่เจอแอปพลิเคชันของผู้ที่หลงเข้ามาอ่าน ก็ไม่ต้องถามเลยว่าเค้าจะมากดซื้อได้อย่างไร
อย่าคิดจะหลอกขายกันง่ายๆ เพราะผู้ใช้สามารถ Refund ได้
ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เมื่อซื้อแอปพลิเคชันไปแล้วผู้ใช้สามารถลองใช้แล้วกดคืนเงินได้ใน 15 นาที ถ้าไม่พอใจในแอปพลิเคชัน
ดังนั้นใน 15 นาทีนี้นี่แหละที่ผู้ใช้จะลองดูการทำงานของแอปพลิเคชันของผู้ที่หลงเข้ามาอ่าน ดังนั้นถ้าคิดจะทำหน้าแรกให้ดูดี แต่ไส้ในกลับไม่มีอะไรเลย ก็เตรียมใจโดนกด Refund ได้เลย
ถ้าแอปพลิเคชันมันเจ๋งมากๆ ก็ระวังโดนก๊อปแจก
นักพัฒนาบางคนวาดฝันไว้ใหญ่โตกับแอปพลิเคชันของตนเอง เพราะมันว่าเจ๋ง ขายได้แน่ๆ และมันกลายเป็นแอปพลิเคชันยอดฮิตขึ้นมาจริงๆ แต่หารู้ไม่ว่าผู้ใช้สามารถดึง APK เพื่อนำไปแจกกันได้ง่ายๆ ดังนั้นถ้าคิดการใหญ่ก็ควรระวังเรื่องแบบนี้ไว้บ้างก็ดี อย่างเช่น Check License ในการซื้อแอปพลิเคชัน เป็นต้น
แต่ที่สำคัญ อย่ามัวแต่ห่วงเรื่องโดนก๊อปไปแจกถ้าแอปพลิเคชันไม่มีความน่าซื้อ ทางที่ดีควรห่วงก่อนว่าจะมีคนมาซื้อหรือป่าว แทนที่จะมานั่งห่วงเรื่องโดนก๊อป ถ้ามันติดตลาดจริงๆก็ค่อยอัพเดทใหม่หาทางป้องกันทีหลังก็ได้
การขายโดยตรงบน Google Play อาจจะไม่ใช่ทางออกเสมอไป
นักพัฒนาหลายๆคนก็พยายามหาทางอื่นในการหารายได้จากแอปพลิเคชันแทนที่จะขายตรงๆบน Google Play อย่างเช่น เปลี่ยนไปติดโฆษณาเพื่อหารายได้ หรือขายฟีเจอร์หรือไอเท็มบางอย่างภายในแอปพลิเคชันผ่าน In-App Purchase หรือไม่ก็รับ Donate สำหรับผู้ที่อยากจะสนับสนุนก็มี หรือแม้แต่การทำแบบแจกฟรีกับแบบขาย โดยที่ตัวฟรีจะทำงานได้แค่บางส่วนเท่านั้น เพื่อให้ผู้ใช้ได้ลองใช้งานบางส่วน ถ้าชอบใจก็อุดหนุนด้วยการซื้อตัวขาย
ถึงแม้ว่าจะมีรายได้น้อยกว่าการขายโดยตรง แต่ทว่าวิธีเหล่านี้อาจจะทำให้ได้เงินจริงๆได้มากกว่าการขายแอปพลิเคชันโดยตรงด้วยซ้ำ
ราคาที่ขายนั้นสำคัญ อย่าคิดจะตั้งตามอำเภอใจ
ในปัจจุบันนี้มีไม่กี่แอปพลิเคชันที่วางขายด้วยราคาหลักร้อยขึ้นไป ทั้งนี้อาจจะเพราะความเด่นในแอปพลิเคชันตัวนั้นๆ ที่ไม่สามารถหาได้บนแอปพลิเคชันตัวอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่ก็จะนิยมขายกันในราคาไม่แพงมาก เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกว่าสามารถซื้อได้ง่าย อย่างเช่น $0.99 หรือ $1.99 เป็นต้น ถ้าแอปพลิเคชันของผู้ที่หลงเข้ามาอ่านไม่มีอะไรเด่นเลย แต่ดันไปตั้งขายหลายร้อย ก็เตรียมโดนเมินได้เช่นกัน
ขายทั้งทีก็ต้องขายให้กับผู้ใช้ทั้งโลกสิ
จะไปสอดคล้องกับกลุ่มตลาดที่เป็นเป้าหมายนั่นแหละ การขายคนทั้งโลกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำรายได้ให้มากขึ้นมากกว่าการขายเฉพาะบางประเทศ ดังนั้นจะเขียนแอปพลิเคชันขายทั้งทีก็ควรคิดการใหญ่ ให้สามารถใช้งานได้ทั้งโลกไปเลย!!
ถ้าเป็นแอปพลิเคชันตัวแรกที่ทำขึ้นมา อย่าพึ่งรีบขาย
ลองทำแอปพลิเคชันที่แจกฟรีซักตัวก่อน เพื่อศึกษาการตลาดของผู้ใช้งานแอนดรอยด์ ว่ามีแนวโน้มขายได้หรือไม่ และมันจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายกว่าแบบขาย
ลองนึกภาพนักพัฒนาที่ทำแอปพลิเคชันแจกฟรีหลายๆตัวแล้วเป็นที่นิยม เมื่อขายแอปพลิเคชันใหม่ๆดู ก็จะมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะมีแอปพลิเคชันตัวฟรีเป็นตัวยืนยันความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว
ดังนั้นถ้าแค่แอปพลิเคชันแจกฟรียังไม่ค่อยรุ่ง แอปพลิเคชันแบบขายอาจจะรุ่งได้ยากเช่นกัน
เลิกล้มความคิดที่ว่าเป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชัน ขายแอพฯง่ายๆก็รวยได้แล้ว
ความคิดนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่ใช่นักพัฒนาหรือว่าเป็นนักพัฒนามือใหม่ที่คิดอะไรง่ายเกินไป ในความเป็นจริงการขายแอปพลิเคชันไม่ได้เกิดขึ้นกันได้ง่ายๆ ต้องต่อสู้กับแอปพลิเคชันแจกฟรีบ้าง หรือแอปพลิเคชันของเจ้าอื่นบ้าง ดังนั้นจึงเลิกล้มความคิดง่ายๆแบบนี้ซะ แล้วเอาไปทุ่มเทกับการพัฒนาแอปพลิเคชันจะดีกว่า
มีผู้ใช้ทั่วไปหลายๆคนคิดแบบนี้อยู่เยอะ แต่ในความเป็นจริงผู้ใช้ที่ยอมลงทุนจ่ายเงินเพื่อซื้อแอปพลิเคชันนั้นกลับมีน้อยกว่ามาก ถ้าลองถามกลับไปว่าเคยซื้อแอปพลิเคชันหรือป่าว ส่วนใหญ่ก็มักจะตอบว่าไม่เคยซื้อ ดังนั้นถ้าขนาดตัวเองยังไม่คิดจะซื้อ แล้วแอปพลิเคชันมันจะไปขายกันได้ง่ายๆได้อย่างไรใช่มั้ยล่ะ
จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะดูเหมือนจะไม่สำคัญในสายตาของนักพัฒนาหลายๆคน แต่ถ้าลองไปถามคนทำด้าน Marketing แล้วละก็มีหลายๆปัจจัยที่ควรใส่ใจอีกเยอะ เพื่อให้ขายแอปพลิเคชันได้ ซึ่งเจ้าของบล็อกก็แนะนำได้แค่บางส่วนเท่านั้นเท่าที่เจ้าของบล็อกรู้ ดังนั้นบทความนี้อาจจะไม่ได้ช่วยให้ทำให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านขายแอปพลิเคชันได้ก็จริง แต่ก็อยากให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านได้มองอะไรกว้างขึ้นบ้าง พิจารณาปัจจัยหลายๆอย่างบ้าง นอกเหนือจากการคิดจะขายแอปพลิเคชันเพียงแต่อย่างเดียว
นอกจากนี้ยังมีบทความดีๆของท่านอื่นที่อยากจะแนะนำให้ลองไปอ่านดูบ้าง
[18+] นักพัฒนาต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เมื่อคนไทยขายแอพฯใน Google Play ได้แล้ว
เราไว้ใจแอพฯฟรีได้แค่ไหน?
สำหรับเจ้าของบล็อกถึงแม้ว่าเจ้าของบล็อกจะไม่ใช่นักพัฒนาประเภทหารายได้จากแอปพลิเคชันก็จริง (ที่ทำไปก็ทำเล่นๆแจกฟรีเรื่อยเปื่อยเท่านั้น) แต่เจ้าของบล็อกก็เป็นคนที่ชอบอุดหนุนแอปพลิเคชันมากพอสมควรคนหนึ่งเช่นกัน (หมดตังไปเยอะนั่นแหละ) ดังนั้นถึงจะไม่ใช่ความเห็นของคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นความเห็นของคนที่ซื้อแอปพลิเคชันอยู่เป็นประจำ
แต่ถ้าจะให้สรุปแบบสั้นๆว่าในมุมมองของเจ้าของบล็อก แอปพลิเคชันที่ขายได้ในเบื้องต้นควรจะเป็นอย่างไร ก็คงจะประมาณนี้ละมั้ง
หน้าตาดี มีชาติตระกูล ไม่น่าเบื่อ และมีลีลาเยอะกว่าที่คิด
ไม่ใช่สเปคสาวๆนะอย่าเข้าใจผิด