ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านคงจะรู้อยู่แล้ว ว่าเจ้าของบล็อกเปิดเพจเพื่อให้ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านที่มีปัญหาเข้ามาถามได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะช่องทาง Google Plus หรือ Facebook ก็ตาม แต่ก็มีปัญหาหนึ่งที่ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านอาจจะไม่รู้ เลยมาเล่าให้ฟังกัน
ปัญหาที่เจ้าของบล็อกเจออยู่บ่อยๆนั่นคือ โค๊ดของผู้ที่หลงเข้ามาถาม เนื่องจากผู้ที่หลงเข้ามาถามเล่นแปะโค๊ดในช่องคำถามโดยตรง ซึ่งไม่รู้อะไรดลใจให้คิดว่าเจ้าของบล็อกจะอ่านมันได้ง่ายๆ = =
ก่อนอื่นขอบอกไว้ก่อนเลยว่า การดูโค๊ดโปรแกรมของคนอื่นนั้นไม่ใช่ง่ายๆ ถ้าเป็นโค๊ดพื้นฐานง่ายๆก็ไม่มีปัญหา ดูแล้วรู้เรื่องได้โดยทันที แต่ในกรณีที่เป็นโค๊ดที่มีโครงสร้างใหญ่พอตัว การดูโค๊ดจะยากขึ้นทันที เปรียบเสมือนว่าต้องมานั่งทำความเข้าใจว่าผู้เขียน เขียนอะไรลงไป มีขั้นตอนทำงานยังไง และมีอัลกอริทึมยังไง ซึ่งฮาไม่ออกเลยล่ะ (ใครที่ทำงานตรวจสอบโค๊ดจะรู้กันดีอยู่แล้ว)
แต่นั่นก็เป็นปัญหาที่เข้าใจได้ เพราะเจ้าของบล็อกจะถามกลับว่าโค๊ดตรงนี้ทำงานยังไง วางการทำงานโปรแกรมอย่างไร เพื่อลดความยุ่งยากในการช่วยดูระดับหนึ่ง
แต่ปัญหาหลักก็ยังคงอยู่ที่วิธีการแปะโค๊ดมาให้เจ้าของบล็อก ผู้ที่หลงเข้ามาถามส่วนใหญ่จะแปะโค๊ดลงไปตรงๆในหน้าที่ถาม ไม่ว่าจะหน้าบล็อกนี้ หรือเพจต่างๆที่เจ้าของบล็อกเปิดให้ถาม แต่หารู้ไม่ว่า มันทำให้ดูยากมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว
ผู้ที่หลงเข้ามาอ่านที่เป็นมือใหม่อาจจะยังไม่รู้กันว่า ทำไมเวลาพิมโค๊ดต้องเรียงปีกกาหรือกด Tab ให้มีระเบียบหรือแม้แต่สีของตัวหนังสือของโค๊ดแต่ละตัว สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เขียนโปรแกรมได้สะดวกขึ้น เวลาดูโค๊ดก็จะไล่ดูได้ง่ายขึ้นเพราะมีสีช่วยแยก มีการจัดระยะของโค๊ดเป็นระเบียบ
เจ้าของบล็อกจึงบอกได้เลยว่า ต่อให้เขียนโปรแกรมเทพแค่ไหน ถ้ามาเจอการแปะโค๊ดถามแบบภาพตัวอย่างข้างบนนี้ ก็ปวดหัวได้เช่นกัน
ดังนั้นควรทำอย่างไรล่ะ?
ก็มีผู้ที่หลงเข้ามาถามหลายๆคนใช้วิธีส่งไฟล์โค๊ดมาเลย อันนั้นก็สะดวกขึ้นอีกหน่อย แต่ถ้าไม่ส่งไฟล์ให้กันแล้วจะทำยังไงดี?
เจ้าของบล็อกจึงขอแนะนำเว็ปที่ชื่อ Gist ของ GitHub ซึ่งเอาไว้แปะโค๊ดเพื่อแชร์ให้คนอื่นๆดูกัน ถ้าผู้ที่หลงเข้ามาอ่านเขียนโปรแกรมได้ซักพักแล้ว อาจจะเคยเห็นเว็ป GitHub กันบ้างแล้ว ซึ่งเป็นเว็ป OpenSource ที่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางเลยล่ะ และจะมาแนะนำ Gist ที่เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของเว็ปนี้
สำหรับจุดประสงค์ของ Gist นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ ในปัญหาที่เจ้าของบล็อกพูดถึงในตอนแรกนี้นั่นเอง มีไว้แปะโค๊ดเอาส่งลิ้งให้คนอื่นๆได้ดูกันสะดวกๆ สำหรับเว็ปนี้พิมค้นหาว่า Gists ใน Google ก็เจอแล้ว หรือเข้าที่ลิ้ง
gist.github.com ก็ได้เช่นกัน
คงดูแล้วเข้าใจกันได้ไม่ยากเนอะ สำหรับเว็ปนี้ Gists description เอาไว้ใส่คำอธิบายของโค๊ดที่จะใส่ลงไป มีช่องให้ใส่ชื่อไฟล์ของโค๊ด และแสดงในรูปแบบภาษาอะไร จะแชร์โค๊ด Java ก็เลือกเป็น Java ถ้า xml ก็เลือก XML
และถ้าพิมชื่อโค๊ดแบบมีนามสกุลไฟล์ด้วย ก็จะเปลี่ยนให้ทันที
จากนั้นก็แปะโค๊ดลงไปในนี้ได้เลย แล้วจัด Tab ให้เรียบร้อย
สมมติว่าโค๊ดมีหลายไฟล์ก็กดปุ่ม Add Another File ก็จะมีหน้าต่างใส่โค๊ดเพิ่มเข้ามาข้างล่างอีกชุดหนึ่ง
ถ้าอยากลบไฟล์โค๊ดอันไหนทิ้งก็กดปุ่มกากบาทที่ชื่อไฟล์นั้นได้เลย
เมื่อเสร็จแล้วก็กดปุ่ม Create Secret Gist หรือ Create Public Gist โดยที่ Secret Gist คือไม่สามารถค้นหาจาก Search Engine จะดูได้ก็ต่อเมื่อมี URL ของหน้าเว็ปไฟล์ตัวนี้เท่านั้น ส่วน Create Public Gist ก็คือค้นหาจาก Search Engine ได้ ซึ่งทั้งสองแบบสามารถแปะ URL ให้คนอื่นเข้ามาดูได้ ดังนั้นจะเลือกแบบไหนก็แล้วแต่เลย
เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สามารถนำ URL ในหน้านั้นๆให้คนอื่นได้เลย เมื่อเข้ามาดูก็จะเห็นโค๊ดที่แยกสีตามรูปแบบภาษานั้นๆอยู่แล้ว (ส่วนระยะ Tab กับปีกกาจะจัดถูกหรือไม่ขึ้นอยู่คนเขียนโค๊ดเอง)
ทีนี้ก็เอา URL ไปแปะในที่ที่จะถามคนอื่นได้เลย ไม่ว่าจะเป็นหน้าเพจ Facebook หรือ Google Plus ในช่องแชทหรือโพสถามบนหน้าเพจก็ได้ ก็จะช่วยให้ผู้ที่เข้ามาช่วยตอบสามารถดูได้สะดวกขึ้น