28 August 2012

[News] USB OTG ใช้กับแอนดรอยด์ยังไง มาดูกัน

Updated on



        เมื่อหลายวันก่อนเจ้าของบล็อกไปหาซื้อสาย USB OTG สำหรับแอนดรอยด์ ซึ่งน่าจะมีผู้ที่หลงเข้ามาอ่านหลายๆคนรู้จักกันบ้างแล้วล่ะ แต่ก็น่าจะมีผู้ที่หลงเข้ามาอ่านบางคนที่ยังไม่รู้จัก

        มันก็คือสาย Micro USB ที่ด้าน USB เป็นตัวเมียนั่นเอง หรือก็คือสามารถต่อกับ Android แล้วให้ทำงานเป็น USB Host ได้ ส่วนรุ่นไหนจะใช้ได้บ้าง เจ้าของบล็อกก็ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่รู้แค่ว่า Galaxy Nexus ใช้ได้ชัวๆ ก็เลยซื้อมาเล่นดู


        สำหรับผู้ที่หลงเข้ามาอ่านคนใดไม่มั่นใจว่าเครื่องตัวเองจะรองรับ USB OTG หรือไม่ ให้ลองหาแอปพลิเคชันใน Google Play เพื่อเช็คได้เลย

        อาจจะหาซื้อตามร้านมือถือธรรมดาๆยากหน่อย ไม่ค่อยมีคนขายกัน เจ้าของบล็อกถ่อไปซื้อที่ MBK มา เส้นนึง ไม่เกินร้อยบาท แล้วแต่ร้าน

        ทีนี้สำหรับสาย USB OTG หลายคนก็คงรู้กันอยู่แล้วล่ะว่า ก็แค่เอามาเสียบเม้าส์ เสียบคีย์บอร์ด เสียบแฟลชไดร์ฟบลาๆ แต่มาดูกันว่า จริงๆแล้วมันเสียบกับอะไรได้อีกบ้าง

        อย่างแรกก่อนเลย เสียบเม้าส์นี่ล่ะ สำหรับ Galaxy Nexus สามารถต่อเม้าส์ใช้งานได้เลย รวมไปถึง Magic Mouse ด้วย โดยไม่ต้องใช้แอพใดๆ ถ้าเป็นเม้าส์ไร้สายแบบมี Bluetooth Dongle ก็เอามาเสียบกับสาย USB ใช้ได้เลย โดยจะมีเคอร์เซอร์แสดงขึ้นมาบนจอให้เลย




        ต่อมาก็คือคีย์บอร์ด สามารถเอามาต่อใช้งานได้เลยเช่นกันหรือว่าจะเป็นคีย์บอร์ดไร้สายก็ได้เหมือนกัน เวลาพิมตัวอักษรก็จะไม่มีแป้นพิมแสดงขึ้นบนหน้าจอ สามารถกดพิมบนคีย์บอร์ดได้เลย แล้วก็ใช้คีย์ลัดได้ด้วยล่ะ อย่างเช่น Ctrl + C หรือ Ctrl + V เป็นต้น เวลาใช้ก็จะมีไอคอนคีย์บอร์ดอยู่ข้างบนสำหรับกำหนดคีย์บอร์ดที่ใช้

        ข้อเสียอย่างหนึ่งของการต่อคีย์บอร์ดแยกคือตัวระบบไม่รองรับภาษาไทยบน Hardware Keyboard ถึงแม้ว่าจะมีภาษาไทยในเครื่องหรือมีคีย์บอร์ดภาษาไทยในเครื่องก็ตาม เพราะว่าตัวระบบแอนดรอยด์ไม่ได้รองรับตัวอักษรภาษาไทยที่ส่งมาจากคีย์บอร์ด ทำให้พิมพ์ออกมาแล้วไม่ขึ้น ดังนั้นต้องแก้ไขด้วยการไปโหลดแอปพลิเคชันคีย์บอร์ดตัวอื่นๆมาใช้แทน เช่น Hardware Thai Keyboard ของ Gadgetdoor หรือ 9420 Keyboard เป็นต้น ทำให้ต้องสลับคีย์บอร์ดไปมา




        จอยเกม จะเป็นจอยธรรมดาถูกๆหรือจอยดีๆอย่าง Xbox ก็ได้ เจ้าของบล็อกลองกับจอยไร้สายของ Logitech ก็ใช้ได้เหมือนกัน สามารถเสียบแล้วใช้งานได้เลยไม่ต้องใช้แอพใดๆช่วย แต่เกมที่รองรับจอยไม่ค่อยมีซักเท่าไร หรือเรียกได้ว่าน้อยมากๆ ที่ใช้ได้แน่ๆเลยก็คือ Sonic 4 Episode 1 และ 2, Dead Trigger หรือ Asphalt 8 เป็นต้น แต่ก็สามารถใช้งาน Galaxy Nexus ด้วยจอยเกมได้เลยนะ สามารถเช็ครายชื่อเกมที่รองรับได้จาก https://androidgamepadgames.com




        ต่อมาก็คือ Flashdrive ซึ่งต้องใช้แอพเข้ามาช่วย ในกรณีที่เครื่องยังไม่ได้ Root ก็ให้ใช้ Nexus Media Importer แทน (เสียตัง แต่สามารถทดสอบได้ด้วย Nexus Photo Viewer ก่อนจะซื้อก็ได้ แต่ดูได้แค่ไฟล์ภาพ) รองรับทั้ง FAT/FAT32 และ NTFS แต่สำหรับ NTFS จะได้แค่ Read เท่านั้น ไม่สามารถ Write หรือเขียนไฟล์ลงใน Flashdrive ได้ (และไม่รองรับ Flashdrive บางรุ่น)
        แต่ถ้า Root เรียบร้อยแล้ว ก็แนะนำเป็น Stick Mount ละกัน เป็นตัวฟรีสามารถจัดการกับไฟล์หรือโฟลเดอร์ได้ตามปกติเลย โดยจะเปิดผ่าน File Explorer ในเครื่องแทน แต่รองรับแค่ FAT/FAT32 เท่านั้น ไม่รองรับ NTFS

        เพิ่มเติม - จะต่อ External Harddisk ก็ได้เหมือนกัน มันก็ Storage Device นั่นแหละ แต่ทางที่ดีต่อไฟเลี้ยงแยกด้วยก็ดี เพราะมันจะสูบแบตจากมือถือพอสมควร


        Download
                • [Root]Stick Mount [Google Play]
                • Nexus Media Importer [Google Play]
                • Nexus Photo Viewer [Google Play]




        ต่อมาก็คือพวกกล้องดิจิตอลหรืออุปกรณ์ที่โอนข้อมูลผ่าน USB อันนี้เจ้าของบล็อกใช้ Nexus Media Importer เพราะโดยปกติเราก็แค่ต้องการไฟล์รูปจากในกล้องเฉยๆ เออก็ดีนะ ใช้กล้องดิจิตอลถ่ายแล้วเอามาอัพด้วย Galaxy Nexus เพียงเท่านี้กล้องของเราก็ถ่ายสวยกว่า Smartphone ตัวอื่นๆละ ฮ่าๆ




        หรือจะโอนข้อมูลระหว่าง Android ด้วยกันก็ทำได้เหมือนกัน แถมตัวที่เอามาเสียบก็ชาร์จแบตได้ด้วยล่ะ!


        และสำหรับอุปกรณ์จำพวก iOS ก็ใช้ได้เช่นกัน แต่ก็เหมือนกับตอนเสียบกับคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้ลง iTune ไว้ ทำได้แค่เพียงเปิดดูไฟล์รูปหรือวีดีโอเท่านั้น ไม่ต้องติดตั้งแอพเพิ่มก็สามารถใช้งานผ่าน Gallery ได้ จะขึ้นแสดงเป็นโฟลเดอร์มาให้เลย

        เรียกได้ว่า Android WIN กันเลยทีเดียว





        ถ้าต้องการต่อกับอุปกรณ์หลายๆตัวพร้อมๆกันละก็ ลองใช้ USB Hub ดูเลย แต่แนะนำตัวที่สามารถต่อไฟเลี้ยงแยกได้นะ เพราะลำพังต่ออุปกรณ์แค่ตัวเดียวก็แย่ละ และถ้าต่อเยอะๆ เครื่องก็จะกระตุกเป็นระยะเหมือนกันนะ (คงเพราะไม่ได้ทำมาให้เชื่อมต่อเยอะแบบนี้)

        สำหรับเม้าส์กับคีย์บอร์ด ถ้าหา HDMI Dock มาใช้ก็ครบชุดเลย ได้ Android PC เครื่องนึงไว้ใช้งานเล่นๆกันเลยทีเดียว



        หรือใครที่อยากฟังเพลงนอกสถานที่ แบบใช้ลำโพง หาลำโพงแบบ USB มาใช้ก็เหมาะเลย ไม่ต้องหาปลั๊กหรือต่อกับคอมที่ไหน เสียบสายแจ๊คและสาย USB เข้าที่ Android ได้ทันที แต่ขอเตือนก่อนนะว่าโดนกินแบตเอาเรื่องเหมือนกัน


        ตบท้ายด้วยวีดีโอการใช้งาน USB OTG ที่ว่ามาทั้งหมด (บางอันก็ไม่มีในวีดีโอเพราะเพิ่มเข้ามาทีหลัง)